"คนละครึ่ง"หนุนคนกรุงใช้จ่ายปีใหม่ 64 เม็ดเงินรวม 3 หมื่นล้าน 

05 ธ.ค. 2563 | 21:59 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ผลจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย "คนละครึ่ง - ช้อปดีมีคืน " หนุนการใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ 64 เม็ดเงินรวมอยู่ที่ 30,050 ล้านบาท ทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 พบว่า คนกรุงเทพฯ กว่า 42.5% ของผู้ตอบแบบสำรวจเลือกฉลองปีใหม่ในกรุงเทพฯ เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงสภาพการจราจรติดขัดและบางส่วนอาจตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงวันหยุดยาวต้นเดือนธันวาคม ขณะที่ในด้านการจับจ่ายใช้สอย คนส่วนใหญ่ยังมีแผนทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น 

 

โดยค่าใช้จ่ายรวมในช่วงปีใหม่ 2564 (ปลายเดือนธันวาคม 2563 ถึงต้นเดือนมกราคม 2564) หากไม่มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 5,300 บาทต่อคน เนื่องจากยังมีความกังวลต่อผลกระทบของโควิด-19 ในต่างประเทศที่อาจลากยาวไปอีก แม้มีข่าวความคืบหน้าในการคิดค้นวัคซีน และปัจจัยกดดันด้านหนี้ครัวเรือน ประกอบกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ซึ่งอาจจะกดดันบรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ อย่างไรก็ดี เนื่องจากแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ทำให้คาดว่า ค่าใช้จ่ายรวมต่อคนในช่วงเทศกาลใหม่ 2564 ของคนกรุงเทพฯ น่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากกรณีไม่มีมาตรการฯ

 

ผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกปี 2564 น่าจะเป็นแรงหนุนกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่ได้บางส่วน ได้แก่ 1) โครงการช้อปดีมีคืน เพื่อให้ผู้เสียภาษีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำยอดใช้จ่ายสินค้าและบริการตามที่กำหนด สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท จากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไปหักลดหย่อนได้

 

 2) โครงการคนละครึ่ง ซึ่งรัฐจะช่วยจ่าย 50% ของยอดใช้จ่ายกับร้านค้าที่ลงทะเบียนร่วมโครงการ มูลค่าไม่เกิน 150 บาทต่อวัน วงเงินรวมตลอดระยะเวลาโครงการไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ครบโควตาในเฟสแรก พร้อมทั้งเตรียมดำเนินการในเฟส 2 ที่จะเริ่มให้ใช้สิทธิ์ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ขยายวงเงิน 3,500 บาทต่อคน และเพิ่มวงเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ในเฟสแรกอีก 500 บาทต่อคน

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 รวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,050 ล้านบาท ทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า เป็นผลจากแรงหนุนที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและเพิ่มกำลังซื้อช่วงปีใหม่ได้บางส่วน แต่ในอีกด้านหนึ่งสะท้อนว่า ประชาชนส่วนใหญ่เผชิญแรงกดดันด้านกำลังซื้อ และต้องการได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย 

 

สอดคล้องไปกับผลการสำรวจการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงปีใหม่ 2564 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า ส่วนใหญ่ปรับลดงบประมาณสำหรับการฉลองปีใหม่ลงจากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้ทยอยใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ในช่วงแคมเปญลดราคาอย่าง 11.11 12.12 และใช้สิทธิ์การท่องเที่ยวผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันไปแล้ว

 

คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มรายได้ ปรับลดงบประมาณสำหรับเทศกาลปีใหม่ 2564 แต่ยังมีผลของมาตรการช่วยหนุนการใช้จ่าย

 

โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้จ่ายรายประเภทกิจกรรม ดังนี้ 1) การเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหารเครื่องดื่ม มากที่สุด 10,500 ล้านบาท รองลงมา คือ 2) ช้อปปิ้ง ซื้อสินค้าส่วนตัว ของขวัญ 8,400 ล้านบาท 3) เดินทางในประเทศ ค่าเดินทาง ที่พัก 7,250 ล้านบาท 4) ค่าบริการ กิจกรรมสันทนาการ 1,850 ล้านบาท 5) ทำบุญ ไหว้พระ สวดมนต์ 1,400 ล้านบาท และ 5) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ให้เงิน บัตรของขวัญ อยู่ที่ 650 ล้านบาท มูลค่าการใช้จ่ายรายกิจกรรมส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ยกเว้นค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหารเครื่องดื่ม และค่าใช้จ่ายสำหรับช้อปปิ้ง ซื้อสินค้าส่วนตัว ของขวัญ ที่ประเมินว่า น่าจะขยายตัวที่ 7.1% และ 7.7% ตามลำดับ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศของภาครัฐ ทำให้ผู้บริโภคเลือกจับจ่ายใช้สอยโดยใช้สิทธิ์ผ่านโครงการฯ

 

ผลการสำรวจในภาพรวม ยังสะท้อนว่า คนกรุงเทพฯ ในทุกกลุ่มรายได้ มีความระมัดระวังในการใช้จ่าย หากไม่มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย คนส่วนใหญ่ปรับลดหรือคงจำนวนเงินค่าใช้จ่ายรวมสำหรับการทำกิจกรรมและซื้อสินค้าช่วงปีใหม่ 2564 เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี มากกว่า 20% ของกลุ่มผู้มีรายได้ 75,001 บาทต่อเดือนขึ้นไป มีแผนเพิ่มการใช้จ่ายเมื่อเทียบกับปีก่อน 

 

คนกรุงเทพฯ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงสังสรรค์และช้อปปิ้งซื้อสินค้าที่เม็ดเงินมากที่สุด 2 ลำดับแรก


เมื่อพิจารณารูปแบบการเลี้ยงสังสรรค์ ใช้จ่ายสำหรับค่าอาหารเครื่องดื่ม พบว่า คนกรุงเทพฯ มากกว่า 41% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มีการปรับรูปแบบการเลี้ยงสังสรรค์จากการไปรับประทานที่ร้านอาหาร หันไปซื้ออาหารและเครื่องดื่มมาปรุงรับประทานเอง เนื่องจากราคาถูกกว่าการไปรับประทานที่ร้านอาหาร สามารถรับประทานได้หลายคนทั้งครอบครัว อีกทั้งต้องการหลีกเลี่ยงการไปในพื้นที่ชุมชนที่อาจมีคนหนาแน่นกว่าปกติในช่วงเทศกาล 

 

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจอาจมีการปรับลดงบการจัดเลี้ยงประจำปีลงให้สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขณะที่ แม้การเลือกสั่งซื้ออาหารสำหรับเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ผ่าน Food Delivery จะยังมีสัดส่วนการใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่คาดว่าน่าจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับการปรับตัวของทั้งผู้บริโภคและร้านอาหารที่คุ้นเคยกับการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับความสะดวกสบายในการชำระเงินได้หลายรูปแบบ ทั้งการชำระด้วยเงินสด บัตรเครดิต และ e-Wallet เป็นต้น นอกจากนี้ แต่ละแอปพลิเคชันยังมีโปรโมชั่นส่วนลดค่าอาหาร ค่าส่ง และสินค้าพิเศษเฉพาะ ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการ

 

คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น (ออนไลน์ 40 : ออฟไลน์60) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน (ออนไลน์ 24 : ออฟไลน์ 76) ถึงแม้ตลาดออฟไลน์จะยังมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า แต่แสดงให้เห็นว่า ช่องทางออนไลน์มีความสำคัญในการตอบโจทย์ลูกค้าที่ไม่สะดวกเดินทางไปซื้อสินค้าที่ร้านมากขึ้น สำหรับประเภทสินค้าที่มีแผนจะเลือกซื้อสำหรับช่วงปีใหม่ 2564 มากที่สุด ได้แก่

 

เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องแต่งกาย และอาหารประเภทขนม เค้ก ของทานเล่น ในขณะที่การซื้อกระเช้าของขวัญอาจมีสัดส่วนการใช้จ่ายลดลงจากปีก่อนหน้า จากแนวทาง No Gift Policy ที่หลายองค์กรปฏิบัติกันมาต่อเนื่อง ส่วนการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาจมีมูลค่าต่อชิ้นค่อนข้างสูง มีสัดส่วนการใช้จ่ายน้อยที่สุด อาจเป็นเพราะบางส่วนได้ใช้จ่ายไปแล้วในช่วงที่สินค้าใหม่เปิดตัว ในขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มยังมีความระมัดระวังการใช้จ่าย และเลื่อนเวลาการซื้อออกไปอีกสักระยะ จากปัจจัยความไม่แน่นอนด้านรายได้ที่อาจเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจ

 

กลยุทธ์การตลาดของร้านค้าผู้ประกอบการมีผลต่อการตัดสินใจซื้อค่อนข้างมาก โดยผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า โปรโมชั่นลดราคามีผลต่อการเลือกใช้จ่ายสูงถึง 92% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด รองลงมา คือ โปรโมชั่นของแถม (65%) ผ่อน 0% ผ่านบัตรเครดิตได้ในระยะเวลานานขึ้น (46%) มีสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตเพื่อแลกคะแนน รับเครดิตเงินคืน (36%) และมีแคมเปญชิงโชค (36%) ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับราคาของสินค้า รวมถึงการยืดระยะเวลาการชำระเงิน 

 

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 45,000 บาท ให้ความสนใจกับโปรโมชั่นลดราคามากที่สุด ในขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 45,001 บาทขึ้นไป เห็นว่าการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ 0% และโปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิต อาทิ การแลกคะแนนสะสม รับเครดิตเงินคืน มีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุด ดังนั้นผู้ประกอบการอาจพิจารณาช่องทางการขายที่ผสมผสานทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ประกอบกับการออกแบบกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์ฐานลูกค้าของสินค้าและสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ใช้งานในแต่ละช่องทางเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย

 

อ่านฉบับเต็มที่นี่