ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเรื่องด่วนตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอเป็น พรก. 3 ฉบับเพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท โดยที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณาอภิปรายไปพร้อมกัน และให้แยกลงมติเป็นรายฉบับนั้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กล่าวถึง เหตุผลและความจำเป็นในการตรา พรก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านว่า สถานการณ์โควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ทางการแพทย์ไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์นี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงติดลบ 1.8% ถือเป็นการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจไทยครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2557 โดยสภาพัฒน์ ประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ติดลบ 5% - 6% โดยกระทบภาคการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี การแก้ไขวิกฤติในครั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามทุกวิถีทางในการบริหารจัดการแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และการจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 พบว่า แหล่งเงินยังไม่เพียงพอทำให้การช่วยเหลือประชาชนไม่ทันกับสถานการณ์ ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประเทศให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว จำเป็นอย่างเร่งด่วนแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว
รัฐบาลคาดว่า จะต้องใช้เงินกู้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นทางเลือกสุดท้ายที่อนุมัติให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการตาม พรก.กู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยให้ลงนามในสัญญากู้เงินไม่เกิน 30 ก.ย.2564
สำหรับการใช้จ่ายตามแผนงานหรือวัตถุประสงค์ตามบัญชีแนบท้าย 3 แผนงานหลัก คือ แผนงานด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท แผนงานเยียวยาและชดเชยให้ประชาชน 555,000 ล้านบาท และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้และอนุมัติโครงการ ทั้งนี้เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้โปร่งใสตรวจสอบได้ ได้กำหนดให้มีการเสนอสภารับทราบรายละเอียดการใช้เงินภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
นอกเหนือจากการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดแล้ว มีวงเงินอีก 400,000 ล้านบาทเพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ให้ความสำคัญกับสาขาเศรษฐกิจที่มีความได้เปรียบ เช่น เกษตรอัจฉริยะ เกษตรมูลค่าสูง เกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น
การตราพรก.เงินกู้ครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะกระทบต่อสถานะหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ดี ขอยืนยันว่า การกู้เงินทั้งหมดจะไม่กระทบต่อกรอบหนี้สาธารณะโดยไม่กระทบกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งประมาณการไว้ช่วงสิ้นเดือนกันยายนอยู่ที่ 57.96%
ทั้งนี้ จะใช้การกู้ภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนการชำระหนี้ กระทรวงการคลังวางแผนการชำระอย่างเป็นระบบ
สำหรับ พรก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 รัฐบาลเห็นว่า เป็นมาตรการเชิงป้องกัน เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อให้ตลาดตราสารหนี้เป็นแหล่งเงินออมที่สำคัญของประชาชน โดยเหตุผลที่ต้องตราเป็น พรก.เพราะการช่วยแหลือตลาดตราสารหนี้ต้องดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีวงเงิน 4 แสนล้านบาท ถือว่าครอบคลุม ตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดในปี 2563-2564 ถือเป็นกลไกชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์เฉพาะกิจช่วงโควิด
นอกจากนั้นรัฐบาลเห็นว่า ตลาดตราสารหนี้เป็นช่องทางการระดมทุนที่สำคัญของประเทศ ปัจจุบันเอกชนระดมทุนผ่านตาราสารหนี้ 3.8 ล้านล้านบาทหรือ 22.5% ของจีดีพี โดยในอีก 2 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีการระดมทุน 9.8 แสนล้านบาท และถือเป็นแหล่งออมที่สำคัญของประชาชน ที่พบว่า ประชาชนถือครองตราสารหนี้ไว้กว่า 83% ซึ่งสถานการณ์โรคโควิด เริ่มเกิดปัญหาที่นักลงทุนไถ่ถอกเงินออกเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ทำให้บริษัทที่ออกหุ้นกู้ขาดสภาพคล่อง และอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง เป็นความเสี่ยงเชิงระบบกระทบต่อเศรษฐกิจสังคม ภาครัฐจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวลุกลามถึงเศรษฐกิจโดยรวม
สำหรับ พรก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.พรก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563
2.พรก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563
3.พรก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563
จับตา สภา ถก พรก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน