4 คณบดีนิติศาสตร์ ออกจดหมายเปิดผนึก ถึงปธ.รัฐสภา-ปธ.ศาลฎีกา

21 ต.ค. 2563 | 08:09 น.

4 คณบดีนิติศาสตร์ มธ.-จุฬาฯ –ม.อ. - ม.ช. ออกจดหมายเปิดผนึกถึงประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา เรียกร้องยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน ให้ศาลทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ใช้กลไกรัฐสภาหาทางออก โดยสันติวิธี 


21 ตุลาคม 2563 คณบดีคณะนิติศาสตร์ 4 มหาวิทยาลัย ออกจดหมายเปิดผนึกถึงประธานรัฐสภาและประธานศาลฎีกา ประกอบด้วย 1.รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

4 คณบดีนิติศาสตร์ ออกจดหมายเปิดผนึก ถึงปธ.รัฐสภา-ปธ.ศาลฎีกา

 

จดหมายเปิดผนึก ดังกล่าวระบุว่า สังคมไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เกิดจากการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของผู้มีอำนาจและเกิดจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันของประชาชน หลายครั้งความขัดแย้งเกิดจากการต่อต้านการใช้อำนาจรัฐและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม 

 

หากมองข้ามรูปแบบ ความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง เราพบว่าประชาชนที่เป็นคู่กรณีความขัดแย้งหรือลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐต่างมีความปรารถนาที่จะให้สังคมไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นในแนวทางของตน 

 

ที่ผ่านมาแม้มีความพยายามในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งทำให้ปัญหาระงับลงได้เพียงชั่วคราวหรือเพียงผิวเผินเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้การเมืองเกิดเสถียรภาพและสังคมเกิดความสงบสุขได้อย่างแท้จริง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติด สถานการณ์การชุมนุม ม็อบคณะราษฎร 21 ตุลาคม 2563

ย้อนรอยคำทำนายดวงเมืองไทยปี 63 "โหรวสุ"แม่นอย่างกับจับวาง

กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่มีอำนาจปิดกั้นสื่อใดแต่เป็นอำนาจของศาลพิจารณา

 

นอกจากนี้การอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวในการจับกุม การคุมตัวบุคคล โดยไม่ได้ให้โอกาสผู้ถูกจับกุมต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม การใช้อำนาจปิดกั้นสื่อเพื่อไม่ให้นำเสนอข้อมูลอย่างอิสระและเป็นกลาง ไม่เพียงเป็นการลิดรอนสิทธิภาพของบุคคลอย่างร้ายแรง แต่ไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองโดยสันติวิธี

 

การชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ การแก้ไขระบบกฎหมายและระบบการเมืองเพียงเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองหรือเพียงเพื่อให้สามารถใช้อำนาจควบคุมผู้ที่เห็นต่างไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน มีแต่จะซ้ำเติมความขัดแย้งให้ฝังลึกลงไปมากยิ่งขึ้น

 

การชุมนุมประท้วงอย่างกว้างที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ที่สังคมไทยไม่เคยพบเห็นมาก่อน ไม่ว่าในแง่เนื้อหาของข้อเรียกร้อง ในแง่รูปแบบและวิธีการของการชุมนุมประท้วง หรือในแง่ช่วงวัยของผู้ประท้วงส่วนใหญ่ ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ให้ปฏิรูปการเมืองและกฎหมายในระดับฐานรากและให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการปฏิรูป นำมาซึ่งทั้งการสนับสนุนและการต่อต้านจากผู้คนในสังคม 

 

แม้ว่าเนื้อหาของข้อเสนอรัฐบาลจะเห็นว่าขัดต่อกฎหมายและกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง แต่หากพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของผู้ชุมนุมจะพบว่า ผู้ชุมชุมมีความปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นในแนวทางที่ผู้ชุมนุมเห็นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้สำเร็จและยั่งยืน การแสดงออกเช่นว่านี้ย่อมเป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและตามหลักกฎหมายสากล

 

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ถูกโต้แย้งจากนักนิติศาสตร์จำนวนมากถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายในการออกประกาศ 

 

เนื่องจากมาตรา 11 กำหนดเงื่อนไขของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงว่าจะต้องเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลเท่านั้น 

 

 

ภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังมีการจัดชุมนุมอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ ทั้งยังขยายวงกว้างทั่วประเทศและมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น และไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นอย่างร้ายแรง แม้การชุมนุมจะก่อให้เกิดความไม่สะดวกและความเดือดร้อนแก่คนกลุ่มอื่นในสังคม หรือมีการกระทบกระทั่งจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงบ้าง แต่ไม่ได้ทำลายความชอบธรรมของการชุมนุมโดยสงบไปทั้งหมด 

 

เมื่อผู้ชุมนุมสามารถจัดการชุมนุมโดยสงบและสามารถจำกัดผลกระทบที่เกิดจากการชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การชุมนุมดังกล่าวย่อมเป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายสากล และแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ไม่จำเป็นและไม่ชอบโดยหลักการของรัฐธรรมนูญ สมควรที่จะเพิกถอนประกาศดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เนื่องด้วยรัฐบาลสามารถบังคับใช้กฎหมายในสถานการณ์ปกติกับการชุมนุมได้อยู่แล้ว

 

นักนิติศาสตร์ทั้งหลายตระหนักดีกว่า การตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องธำรงไว้ซึ่งเหตุผลที่ถูกต้องและสอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชาชน เมื่อใดที่กฎหมายขาดความชอบธรรมเช่นว่า ย่อมนำมาซึ่งการปฏิเสธ เมื่อใดมีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ย่อมนำมาซึ่งการต่อต้าน 

 

คณบดีคณะนิติศาสตร์ดังมีรายนามแนบท้าย จึงขอเรียกร้องให้มีการพิจารณาเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทันที ขอเรียกร้องให้ศาลทำหน้าที่กลั่นกรองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหารตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างเที่ยงธรรมและยึดมั่นในหลักการทางกฎหมายอย่างซื่อตรงเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขอเสนอให้ใช้กลไกรัฐสภาในการหาทางออกร่วมกันตามหลักการประชาธิปไตยโดยสันติวิธีอย่างจริงจังต่อไป

 

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

 

รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์
คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่