"ประยุทธ์" เร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

22 พ.ย. 2563 | 05:50 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2563 | 07:18 น.

"ประยุทธ์"เร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจดีขึ้น

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพื่อที่จะช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น กระตุ้นการใช้จ่าย ส่งเสริมการจ้างงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยเหลือลูกหนี้บุคคล และลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหนี้ “เอสเอ็มอี” (SMEs) และเร่งดำเนินการมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยเร็ว

ทั้งนี้  นายกรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ที่นำเสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 63 ปรับตัวลดลง -6.4% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีการปรับตัวลดลง -12.1% และหากรวม 9 เดือนแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลง -6.7%

\"ประยุทธ์\" เร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

สำหรับการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจไทย เนื่องมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และการผ่อนคลายการจำกัดการเดินทางภายในประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาพัฒน์ เผย "จีดีพี" ไตรมาส 3/63 ติดลบ 6.4% คาดทั้งปี -6%

สศช.จับตา"ว่างงาน-หนี้ครัวเรือน" แนะรัฐเร่งลงทุนประคองเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี สศช. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยของทั้งปี 63 มีแนวโน้มลดลง -6.0% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะขยายตัวในช่วง 3.5 - 4.5% โดยมีแรงสนับสนุนจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีการปรับตัวสูงขึ้นภายในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 64 ได้แก่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) ในหลายประเทศ ซึ่งอาจมีความยืดหยุ่นและรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปริมาณการค้าโลก ภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับเงื่อนไขด้านการจ้างงาน และฐานะการเงินภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ รวมทั้งความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

“ถึงแม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะบ่งบอกว่าไทยมีแนวโน้มด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง”