ผู้ประกอบการเดินรถได้เสนอมาตราการผ่อนปรนผลกระทบโควิด-19 ผ่านกรมการขนส่งทางบกตามนโยบายหยุดเดินรถบางเส้นทาง ตลอดจนการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดการระบาดส่งผลให้รับผู้โดยสารได้ลดลง กระทั้งประสบปัญหาขาดทุน ตามมานั้น
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตราการตามที่ผู้ประกอบการเดินรถเสนอ ขณะเดียวกันกระทรวงอยู่ระหว่างเตรียมรายละเอียดเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังพิจารณา หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
สำหรับมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย 2 เรื่อง 1.มาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่กำหนดสามารถให้ใช้จ่ายค่าโดยสารประจำทางของภาครัฐ อาทิ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 500 บาทต่อเดือน และ บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวน 500 บาทต่อเดือน ทั้งนี้จะต้องปรับเพิ่มให้สามารถใช้จ่ายค่าโดยสารสาธารณะของภาคเอกชนได้ทุกราย นอกเหนือจากรถขสมก.และบขส. ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เพื่อให้มีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เป็นการกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการขนส่งภาคเอกชน
2. มาตรการวงเงินชดเชยเยียวยาผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นมาตรการที่ผู้ประกอบการโดยสารประจำทางได้รับผลกระทบจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้การบริการแต่ละเที่ยวสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้เพียง 50% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด จากปกติที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 80% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ส่งผลให้การเดินรถโดยสารประจำทางขาดทุน รวมถึงผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทางที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการชะลอการเดินทางและการประกาศห้ามเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นผลให้รถโดยสารไม่ประจำทางทั้งหมดต้องหยุดให้บริการ สำหรับวงเงินมาตรการนี้ ประกอบด้วย รถโดยสารประจำทาง วงเงิน 3,657 ล้านบาท และรถโดยสารไม่ประจำทาง วงเงิน 1,116 ล้านบาท
ขณะเดียวกันที่ประชุมได้พิจารณาการปรับปรุงเงื่อนไขการเดินรถโดยสารประจำทางขั้นตํ่า ซึ่งมีบางเส้นทางที่มีการปรับลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ต้องการเสียค่าปรับ รวมถึงบางเส้นทางพบว่ามีปริมาณผู้โดยสารลดลงทำให้ถูกปรับเที่ยวเดินรถลดลง เพื่อให้สอด คล้องกับเงื่อนไขและสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ต่อเนื่อง สำหรับเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางที่มีการปรับลดลงนั้น ประกอบด้วย
1. เส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง หมวด 3 สายที่ 823 อุดรธานี-สังคม ลดลงอยู่ที่ 24 เที่ยวต่อวัน จากปกติ อยู่ที่ 54 เที่ยวต่อวัน 2. เส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง หมวด 3 สายที่ 789 หัวหิน-พัทยา ช่วงสุวรรณภูมิ-หัวหิน ลดลงอยู่ที่ 14 เที่ยวต่อวัน จากปกติ อยู่ที่ 16 เที่ยวต่อวัน ส่วนเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางที่ถูกยกเลิก เช่น เส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง หมวด 3 สายที่ 714 หาดใหญ่-สุไหงโกลก ช่วงยะลา-นราธิวาส เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายอื่นให้บริการเป็นจำนวนมาก
“เรามองว่ากรณีที่จะพิจารณายกเลิกเที่ยวเดินรถหรือปรับลดเที่ยวเดินรถโดยสารประจำทางในแต่ละเส้นทางนั้น จะต้องไม่กระทบต่อการเดินทางของประชาชน และประชาชนต้องไม่เดือดร้อน โดยส่วนใหญ่เส้นทางที่ถูกปรับเที่ยวเดินรถประจำทางลดลงเป็นโซนต่างจังหวัดมากกว่า”
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,585 วันที่ 21 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563