ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การต่อายุมาตรการดังกล่าว จะเข้ามาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคได้สูงถึง 8.94 หมื่นบาท เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมปกติ (คิดจากราคาที่อยู่อาศัย 3 ล้านบาท) โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้ปานกลางลงไปที่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่ม mass market ที่มีความหนาแน่นของผู้บริโภคสูง แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ทำให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยคาดว่า ยอดโอนกรรมสิทธิ์ปี 2564 ปรับตัวลงเหลือ 1.82-1.85 แสนหน่วยหรือหดตัวลง 3.1-4.7% ซึ่งเป็นระดับตํ่ากว่าศักยภาพ
นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคาร ไทยพาณิชย์เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ตลาดสินเชื่อบ้านปี 64 ยังอยู่ในระดับทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สาเหตุจากการแพร่ระบาดของโควิดและสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ทุกสถาบันการเงินยังคงให้ความสำคัญในการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เอง ก็ชะลอการเปิดโครงการใหม่ (คอนโดฯ) พร้อมเร่งระบาย stock โครงการเก่าๆ และเบนเข็มสู่กลุ่มโครงการที่มีระดับไม่เกิน 3 ล้านบาทในแนวราบ เพื่อเจาะกลุ่ม Real demand ให้มากขึ้น
“ปีนี้ไทยพาณิชย์ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ 78,000 ล้านบาทใกล้เคียงกับปีก่อน โดยยังคงมี Co-campaign ต่างๆ ร่วมกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยกระตุ้นการตัดสินใจของลูกค้าที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง ที่สำคัญธนาคารยังคงมีโปรแกรมหลากหลายช่วยบรรเทาการผ่อนชำระต่อเดือนให้ลูกกค้ ทั้งปรับลดค่างวดผ่อนชำระ ขยายเวลาชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้และคุณภาพเอ็นพีแอล”
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยต้องมอง 2 ปีที่อยู่ในสถานการณ์โควิดทั้งคู่ โดยปีที่ผ่านมา ธนาคารเน้นคุณภาพสินเชื่อและให้ความช่วยเหลือลูกค้า ขณะเดียวกันธุรกิจยังต้องเติบโตและเลือกเติบโตกลุ่มลูกค้ามีเงินเดือน/มีรายได้ประจำและจับมือโครงการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่โครงการจะคัดเลือกลูกค้ามาแล้วระดับหนึ่ง ในระดับราคา 5-10 ล้านบาท เช่นเดียวกับปีนี้ที่ยังต้องช่วยเหลือลูกค้า
“ที่ผ่านมาเราได้ช่วยลดภาระไปแล้ว 1 แสนรายและสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติเมื่อสิ้นปี ซึ่งธนาคารค่อนข้างสบายใจ อีกทั้งการระบาดโควิดรอบใหม่ หลายบริษัทจดทะเบียนระบายสต๊อก จึงเป็นโอกาสของผู้ซื้อ โดยซัพพลายตลาดคอนโดยังเหลืออยู่ แต่ในตวามต้องการก็ยังมีแรงซื้อ สำหรับโอกาสเติบโตจะล้อไปกับตลาด แต่ให้ความสำคัญบางกลุ่มเป็นพิเศษ ส่วนกรณีแคมเปญอยู่ฟรี 2ปีหรือ 3ปี โดยโครงการผ่อนชำระแทนผู้ซื้อนั้น ธนาคารจะขอให้ทำโปรโมชั่นด้านอื่นทดแทน เพราะธนาคารต้องคำนวณจากยอดการผ่อนสูงสุดต่อเดือน เพื่อดูความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้า เพื่อไม่สร้างภาระสูงเกินตัวด้วย”
นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัดกล่าวว่า มาตรการลดภาษีที่ดิน 90% ในปี 2564 นั้นเป็นการขยายมาตรการที่หมดเมื่อปลายปีก่อน ส่วนตัวมองว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดนัก เพราะกลุ่มผู้บริโภคยังเป็นกลุ่มเดิม ซึ่งความสามารถซื้อไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นกลุ่มค่อนข้างตึงอยู่แล้ว ไม่ได้เติมดีมานด์ให้เข้ามาในระบบ ซึ่งในความคาดหวัง ควรจะเป็นระดับราคาเกินกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป เพราะน่าจะมีกำลังซื้อมากกว่า ซึ่งระดับราคา 3 ล้านบาทกลุ่มนี้มีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ 40:60
ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายไม่ได้ขยายเพิ่ม แต่ได้กลุ่มเดิมที่ยังไม่ซื้อหรือมีความพร้อมจะซื้อเท่านั้นเอง ในแง่ผลต่อการเติบโตไม่น่าจะมากมายและเป็นไปตามความพร้อมผู้บริโภค เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มรายได้ปานกลาง ซึ่งมีภาระหนี้เดิม ภาระอื่นๆ อยู่พอสมควรเมื่อภาวะเศรษฐกิจชะลอ กลุ่มนี้ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตกับรายได้ที่มีก็ไม่ได้มีช่องว่างมากมายนัก จึงอาจจะเป็นจุดที่ยากต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย
ที่มา : หน้า 13 ฉบับที่ 3,649 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อสังหาฯ กระหน่ำโปรฯ เสนาฯ งัดผ่อนให้ 24 เดือน สู้โควิด
คอนโดฯ ชะอำ-หัวหิน 'ล้นตลาด' 6.8 พันหน่วย 5 ปี ถึงขายหมด
“ลดภาษีที่ดิน – ลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง” เช็กรายละเอียดมติครม. ได้ที่นี่
เสนาฯ เพิ่มพอร์ตแนวราบ ปั้น 4 แบรนด์ใหม่ เจาะบ้านหลังแรก
ลดค่าโอนฯ บ้านตํ่า 3 ล้าน เกายังไม่ถูกที่คัน