นักวิเคราะห์ กล่าวว่า
ซาอุดิอาระเบียอาจจะใช้ "น้ำมัน" เป็นเครื่องมือต่อรองในการสยบแรงกดดันจากนานาชาติที่เรียกร้องให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียออกมาไขความกระจ่าง กรณีการสังหารคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ในสถานกงสุลซาอุดิอาระเบีย ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ที่จนป่านนี้ยังไม่มีร่องรอยว่า ศพอยู่ที่ไหนและเขาตายได้อย่างไร
แต่รัฐบาลซาอุฯ ได้ออกมายืนยันแล้ว เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ว่า ซาอุดิอาระเบียไม่มีความคิดที่จะใช้น้ำมันเป็นอาวุธทางการเมืองท่ามกลางปมปริศนาฆาตกรรมดังกล่าว
[caption id="attachment_336887" align="aligncenter" width="503"]
คาลิด อัล-ฟาลีห์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน อุตสาหกรรม และทรัพยากรแร่ธาตุ ของซาอุดิอาระเบีย[/caption]
นายคาลิด อัล-ฟาลีห์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน อุตสาหกรรม และทรัพยากรแร่ธาตุ ของซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่และเป็นสมาชิกที่ทรงอิทธิพลของกลุ่มโอเปก เปิดเผยกับสำนักข่าวทาซซ์ (Tass) ของรัสเซีย ที่ตั้งประเด็นว่า ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาประเทศ จากกรณีที่ซาอุดิอาระเบียถูกกล่าวหาพัวพันคดีสังหาร นายจามาล คาช็อกกี้ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ที่หายตัวลึกลับ หลังปรากฏตัวครั้งสุดท้ายที่สถานกงสุลซาอุดิอาระเบีย ในประเทศตุรกี เมื่อต้นเดือนนี้ ซาอุดิอาระเบียจะหาทางออกเช่นไร ซึ่งรัฐมนตรีพลังงานของซาอุฯ ยืนยันว่า ประเทศของเขาไม่มีแผนจะนำน้ำมันมาใช้เป็นอาวุธในการเจรจาต่อรองคลี่คลายแรงกดดันดังกล่าวเหมือนอย่างเช่นเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1973 ที่ซาอุฯ เคยงดขายน้ำมันให้กับประเทศที่ให้การสนับสนุนอิสราเอล ซึ่งครั้งนั้น สหรัฐอเมริกาในฐานะพันธมิตรของอิสราเอลได้รับผลกระทบไปด้วย โดยต้องเผชิญภาวะน้ำมันขาดแคลนและราคาน้ำมันก็พุ่งขึ้นถึง 4 เท่า
[caption id="attachment_336890" align="aligncenter" width="503"]
รัฐบาลซาอุฯ ยืนยันว่า มกุฏราชกุมาร บิน ซาลแมน ที่ตกเป็นข่าวว่าอยู่เบื้องหลังการ “สั่งเก็บ” นายคาช็อกกี้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในคดีนี้[/caption]
ซาอุดิอาระเบียตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ เนื่องจากชุดสืบสวนของตุรกีที่เป็นประเทศที่เกิดเหตุ ได้ทำการรวบรวมหลักฐานและออกข่าวว่า พบหลักฐานทั้งที่เป็นภาพและเสียงว่า นายคาช็อกกี้ ที่มีผลงานวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำซาอุดิอาระเบียมาโดยตลอดนั้น ถูกฆาตกรรมโดยทีมของหน่วยงานสืบราชการลับของซาอุดิอาระเบีย ภายในอาคารสถานกงสุล ทางการซาอุฯ ได้แถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 ต.ค.) แต่ก็ยอมรับเป็นครั้งแรกว่า นายคาช็อกกี้ถูกสังหารแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ซาอุฯ เคยออกมาให้ข่าวว่า นายคาช็อกกี้เดินทางออกจากสถานกงสุลในกรุงอิสตันบูลโดยไม่ได้รับอันตรายใด ๆ นอกจากนี้ รัฐบาลซาอุฯ ยังยืนยันว่า มกุฏราชกุมาร บิน ซาลแมน ที่ตกเป็นข่าวว่า อยู่เบื้องหลังการ
"สั่งเก็บ" นายคาช็อกกี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในคดีนี้
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากรัฐบาลนานาชาติให้ซาอุดิอาระเบียออกมาสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ สหรัฐอเมริกาได้ส่งสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐฯ อาจนำมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมาใช้กดดันซาอุดิอาระเบีย เพื่อไขปริศนาในเรื่องนี้ แต่รัฐบาลซาอุฯ ได้ออกมาโต้ตอบข่าวดังกล่าวว่า ถ้าสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตร ซาอุฯ ก็จะโต้กลับด้วยมาตรการที่แรงกว่า แต่ไม่ใช่มาตรการด้านน้ำมัน
"ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบ และเป็นเวลานานนับทศวรรษแล้ว ที่เราใช้นโยบายด้านน้ำมันเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และไม่เอามันไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง" นายอัล-ฟาลีห์ กล่าว