ล้ำไปแล้ว! อีลอน มัสก์ ผุดไอเดียฝังชิปในสมอง ช่วยผู้ป่วยสื่อสารผ่านโทรจิต

18 ก.ค. 2562 | 11:27 น.

อีลอน มัสค์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทสล่า และสเปซเอ็กซ์  ผุดไอเดียสุดบรรเจิดที่จะช่วยให้การใช้โทรจิต (telepathy) หรือการถ่ายโอนความนึกคิดถึงกันโดยไม่ต้องพูดบอกออกมา แต่ใช้วิธีสื่อผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือสมาร์ทโฟน เป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริง และยังอาจจะช่วยให้ผู้บาดเจ็บหรือพิการสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่าง  ทั้งนี้ด้วยการฝังชิปตัวจิ๋วไว้ในสมองมนุษย์ เพื่อให้สมองของเราสามารถทำงานเชื่อมโยงกับสมาร์ทโฟนผ่านสัญญาณบลูทูธ   

อีลอน มัสค์

ชิปตัวจิ๋วที่ว่านี้จะมีพอร์ท USB-C ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับอะแดปเตอร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์แมคบุ๊ค มันสามารถเชื่อมต่อการสื่อสารแบบไร้สายผ่านระบบบลูทูธกับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กจิ๋วที่สวมใส่เอาไว้เหนือหู รวมทั้งเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนด้วย  ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีขนาดเล็กมาก โดยอีลอน มัสค์ระบุว่า บนตัวชิปจิ๋วจะมีสายไฟเล็กๆ 1,000 เส้น แต่ละเส้นมีขนาดเพียง 1 ส่วน 10 ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมของมนุษย์  “ถ้าคุณจะเอาอะไรสักอย่างไปฝังไว้ในสมอง ขนาดมันต้องไม่ใหญ่อยู่แล้ว”

ล้ำไปแล้ว! อีลอน มัสก์ ผุดไอเดียฝังชิปในสมอง ช่วยผู้ป่วยสื่อสารผ่านโทรจิต

โครงการนี้จะดำเนินการโดยบริษัท นูรัลลิงค์ (Neuralink) ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่มัสค์ก่อตั้งขึ้นมาและใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 100 ล้านดอลลาร์  ถามว่าเป็นใครบ้างที่น่าจะใช้ชุดอุปกรณ์ที่ว่านี้ มัสค์ตอบว่า คนที่อยากกระตุ้นให้ความทรงจำดีขึ้น หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอัมพฤกษ์-อัมพาต ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือผู้ที่มีความพิการมาแต่กำเนิด

 

โดยคร่าวๆคือ ผู้ป่วยสามารถฝังชิปในสมองได้มากถึง 10 ตัว ชิปเหล่านี้จะทำงานเชื่อมโยงการสื่อสารกับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน อย่างเช่นไอโฟน ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ผู้ป่วยหรือผู้ใช้สามารถควบคุม บริษัท นูรัลลิงค์จะเป็นผู้พัฒนาหุ่นยนต์ที่จะทำหน้าที่ในการฝังชิปให้กับผู้ป่วย โดยจะมีศัลยแพทย์เป็นผู้ควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์อีกทอดหนึ่ง ขั้นตอนฟังดูอาจน่าหวาดเสียว แต่ขั้นต้นนั้นหุ่นจะเจาะกะโหลกผู้ป่วยเป็นรูเล็กๆขนาด 2 มิลลิเมตร จากนั้นก็จะฝังชิปลงไปในรูนั้น การเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างชิปกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนจะเป็นการสื่อสารแบบไร้สาย ดังนั้นจึงไม่มีสายระโยงระยางออกมาจากหัวของผู้ป่วยหรือผู้ใช้อย่างแน่นอน มัสค์ย้ำว่าประเด็นนี้สำคัญมาก  

 

“การทดลองระบบน่าจะเกิดขึ้นได้ก่อนสิ้นปี 2563” เขาเปรียบเทียบว่า กระบวนการดังกล่าวเหมือนกับการทำเลสิคดวงตาจึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการวางยาชาหรือยาสลบด้วย โครงการนี้มุ่งหวังจะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (artificial intelligence: AI) เพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติ   

ล้ำไปแล้ว! อีลอน มัสก์ ผุดไอเดียฝังชิปในสมอง ช่วยผู้ป่วยสื่อสารผ่านโทรจิต

อย่างไรก็ตาม แดเนียล นิวแมน หัวหน้านักวิเคราะห์ บริษัท ฟิวเจอรัม รีเสิร์ช และผู้ร่วมเขียนหนังสือ มนุษย์และจักรกล (Human/Machine) ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับโปรเจ็คท์นี้ว่า ยังน่าสงสัยอยู่ว่าเราจะสามารถไว้วางใจบริษัทที่ทำธุรกิจแสวงผลกำไรที่มาทำอะไรเกี่ยวกับข้อมูลในหัวสมองของเราได้หรือไม่  เรื่องแบบนี้น่าจะทำให้ผู้คนในสังคมไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่นัก

 

ด้านเฟรดเดอริค แคลทูเนอร์ จากองค์กร Privacy International ให้ความเห็นผ่านสื่อซีเอ็นเอ็นว่า เทคโนโลยีที่อีลอน มัสค์ พูดถึงนี้อาจจะช่วยผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหรือได้รับกระทบกระเทือนทางสมอง แต่การเก็บรวบรวมข้อมูลจากสมองของมนุษย์ ก็สร้างความเสี่ยงให้กับบุคคลผู้นั้นได้อย่างมากมายมหาศาล เพราะเขาอาจจะถูกครอบงำ ปลุกปั่น หรือถูกนำข้อมูลไปใช้อย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม เราคงต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้เสียก่อนว่า ใครบ้างที่จะเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลจากสมองของพวกเขา ข้อมูลเหล่านี้จะถูกแชร์ให้กับบุคคลที่สามหรือเปล่า ที่สำคัญคือคนเราทุกคนจะต้องสามารถกำกับควบคุมข้อมูลของตัวเราเองอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่เรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลกำลังกลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ มีคดีความให้เราเห็นมากมายเกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล และการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ดูแลข้อมูลของสมาชิกผู้ใช้บริการได้ไม่ดีพอหรือนำข้อมูลนั้นไปใช้โดยละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลของประชาชน

 

ยกตัวอย่างในเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัท อัลฟาเบ็ท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิ้ล ถูกศาลฝรั่งเศสสั่งปรับเงินโทษฐานละเมิดกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวทางออนไลน์ของสหภาพยุโรป (อียู) และในสหรัฐอเมริกา ก็มีการสั่งปรับเฟซบุ๊คโทษฐานละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเช่นกัน แม้แต่ฐานข้อมูลในระบบคลาวด์ของบริษัทเทสล่าที่ก่อตั้งโดยอีลอน มัสค์ ก็เคยถูกเจาะเข้าไปเพื่อใช้ขุดเงินดิจิทัล โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง