สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยืดเยื้อข้ามปีมาจนถึงขณะนี้ทำให้บริษัทอเมริกันจำนวนมาก รวมทั้งบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในจีนเพื่อส่งออกกลับมายังตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ต้องพิจารณาทบทวนแผนการลงทุนกันใหม่ เพราะความไม่แน่นอนเริ่มเข้าครอบคลุมบรรยากาศการค้าการลงทุนจนยากที่จะวางแผนในระยะยาว
ในระหว่างที่ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าที่นักวิเคราะห์เชื่อว่า สิ่งที่บริษัทต้องพบเจอนอกเหนือจากกำแพงภาษีที่ขยับสูงขึ้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญจากอุปสรรคการค้าการลงทุนที่ไม่ได้อยู่ในรูปของภาษีอีกด้วย เช่นกฎระเบียบที่ยุ่งยากและเข้มงวดมากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
วันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศลั่นผ่านทวิตเตอร์ ว่าเขาขอให้บริษัทอเมริกันทั้งหมดที่เข้าไปลงทุนอยู่ในจีนถอนการลงทุนออกมา และให้มองหาประเทศทางเลือกอื่นๆ รวมทั้งกลับมาลงทุนในสหรัฐฯเอง ซึ่งต่อมาได้มีการขยายความว่า ทรัมป์สามารถใช้อำนาจประธานาธิบดีสั่งบริษัทเอกชนถอนการลงทุนออกมาได้ ผ่านกฎหมายการใช้อำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ International Emergency Economic Powers Act (IEEPA) ที่มีมาตั้งแต่ปี 2520 เป็นอำนาจที่มอบให้ฝ่ายบริหารเอาไว้ใช้ ในยามที่เผชิญภัยคุกคามที่ผิดปกติหรือเป็นอันตรายมากเป็นพิเศษต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ต่อนโยบายต่างประเทศ หรือต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยิ่งตอกยํ้ากระแสการเคลื่อนย้ายไหลออกของทุนสหรัฐฯจากประเทศจีน สู่แหล่งผลิตในประเทศอื่นๆ ซึ่งแม้จะไม่ใช่การถอดถอนการลงทุนทั้งหมด แต่บางส่วนของทุนสหรัฐฯได้เคลื่อนย้ายออกมาแล้ว
ในผลการสำรวจประจำปีของสภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน (US-China Business Council) เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 พบว่า เกือบ 30% ของ 220 บริษัทที่ตอบคำถามการสำรวจ ระบุว่า พวกเขาได้ “เลื่อน” หรือ “ยกเลิก” การลงทุนในจีนออกไปแล้ว ด้วยเหตุผลจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้า นอกจากนี้ มี 13% ที่ระบุว่า มีแผนจะโยกย้ายการลงทุนออกจากประเทศจีน ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากระดับที่เคยมีเพียง 10% และ 8% ในปี 2561 และ 2560 ตามลำดับ แม้ว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่ตอบคำถามการสำรวจครั้งนี้ ยังเห็นว่าจีนเป็นตลาดใหญ่ที่มีความมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แต่ความคาดหวังในเชิงบวกเกี่ยวกับตลาดจีนกลับปรับลดลง บางบริษัทระบุว่าจะลดการลงทุนใหม่ๆ เมื่อถามว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร 60% ตอบว่าเป็นเพราะต้นทุนที่สูงขึ้นและเพราะความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากความสัมพันธ์ทางการค้าที่ยํ่าแย่ลงของจีนและสหรัฐฯ นอกจากนี้ บริษัทอเมริกันยังมองศักยภาพของตลาดจีนในระยะยาวด้วยความหวังที่ลดลง โดย 14% มองจีนในระยะ 5 ปีข้างหน้าในเชิงลบ หรือค่อนข้างลบ เทียบกับการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว มีผู้ตอบเช่นนี้เพียง 9% เท่านั้น
จากความที่อยู่ใกล้กับจีน หลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นประเทศทางเลือกที่บริษัทอเมริกันหมายตา อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมทั้งไทย อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทยอมรับว่าการย้ายการลงทุนทั้งหมดออกจากจีนเป็นเรื่องยาก เช่น บริษัท โบอิ้งฯ ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่เปิดเผยว่า บริษัทเพิ่งเปิดโรงงานผลิตเครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ แห่งใหม่ที่ประเทศจีนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จึงยังไม่คิดจะถอนการลงทุนไปไหน
เหตุผลนอกเหนือจากนั้น คือ จีนเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญที่หากโบอิ้งถอยห่างออกไป ก็จะต้องสูญเสียตลาดให้กับคู่แข่งอย่างแอร์บัสที่กำลังรุกหนักในตลาดจีนอยู่เช่นกัน สื่อรายงานว่า การลงทุนของโบอิ้งในประเทศจีนนั้น มีส่วนช่วยสร้างการเติบโตให้จีดีพีของจีนโดยเฉลี่ยปีละกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา (ปี 2561) โบอิ้งผลิตเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ ส่งมอบให้กับสายการบินเซียเหมิน แอร์ไลน์ส ของจีนถึง 200 ลำ
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของบริษัท แอปเปิล อิงค์ ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยอดฮิตอย่างโทรศัพท์ไอโฟนและคอมพิวเตอร์ตระกูลแมค ที่สินค้าส่วนใหญ่ผลิตในจีน และซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของแอปเปิลคือบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ฯ ก็มีโรงงานผลิตโทรศัพท์ไอโฟนถึง 29 โรงงานในมณฑลเจิ้งโจวของจีน กล่าวได้ว่า ปัจจุบัน 50% ของซัพพลายเออร์ของแอปเปิล มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีน หากบริษัทจะถอนการลงทุนออกจากจีนก็คงจะต้องใช้เวลาหลายปี และหากทำเช่นนั้นจริงก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องทางให้คู่แข่งอย่างซัมซุงเข้ามาสวมโอกาสแทน อย่างไรก็ตาม แอปเปิลฯเข้าใจถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าดี และได้ขอให้ซัพพลายเออร์ศึกษาถึงผลกระทบด้านต้นทุนหากต้องโยกย้ายฐานการผลิต 15-30% ออกจากประเทศจีนไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าหลายรายการของแอปเปิลได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นเมื่อส่งออกจากจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ ยกตัวอย่างเช่น หูฟังไร้สายแอร์พ็อดส์และนาฬิกาสมาร์ทวอตช์ ถูกเก็บภาษีสูงขึ้น 15% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่โทรศัพท์ไอโฟนกำลังจะถูกเก็บภาษีในอัตราใหม่ที่สูงขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ราย อื่นๆของสหรัฐฯ เช่น ฮิวเลตต์- แพคการ์ด (เอชพี) และ เดลล์ ต่างก็มีแผนย้ายการผลิตถึง 30% ออกจากประเทศจีนเช่นกัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดความเสี่ยงจากกำแพงภาษีซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงครามการค้า และขณะเดียวกันก็เป็นการปรับกลยุทธ์เกี่ยวกับห่วงโซ่การผลิต ไม่ให้ต้องขึ้นกับตลาดประเทศใดประเทศหนึ่งมากจนเกินไป
ล่าสุดที่ได้รับการยืนยันจากสื่อหลายสำนักก็คือ กูเกิล บริษัทในเครือกลุ่มอัลฟาเบ็ท ประกาศจะย้ายฐานการผลิตสมาร์ทโฟน “พิกเซล” ซึ่งเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐฯ ออกจากจีนสู่ประเทศเวียดนาม โดยจะมีผลเร็วที่สุดในไตรมาส 3 ของปีนี้ และในอนาคตสินค้าเกือบทั้งหมดที่บริษัทผลิตในจีนและส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะถูกโยกย้ายมาผลิตที่เวียดนามเช่นกัน
หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3502 ระหว่างวันที่ 5 - 7 กันยายน 2562
ข่าวที่เกี่ยวข้อง