เตือนรับมือสต๊อกเหล็กจีน 100 ล.ตัน ระบายออกทั่วโลก

23 เม.ย. 2563 | 23:43 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2563 | 09:15 น.

จับตาสต๊อกเหล็กจีนเริ่มแล้ว ส่งสัญญาณลบหลังโควิดเริ่มคลี่คลาย เส้นทางการค้าเริ่มขยับ เร่งงัดกลยุทธ์ “ราคา”ถล่มตลาดเหล็ก ไปทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย

 

หลังจากที่รัฐบาลจีนออกมาประกาศอย่างเป็นทางการถึงมาตรการระบายสต๊อกเหล็กในจีนด้วยการเพิ่มอัตราการชดเชยภาษีสำหรับการส่งออกสินค้าเหล็กอีก 3% (เพิ่มจาก10%เป็น13%)นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุดหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็เริ่มมีการเสนอราคาขายเหล็กจากประเทศจีนในราคาต่ำมากอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะเหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GI) มีระบุว่าราคาเสนอขายจากจีนลดลงถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน หรือลดลงมากถึง 8% (อ่านเพิ่มเติม...สัญญาณเตือนมาไทยแน่ สต๊อกเหล็กล็อตใหญ่จากจีน)

นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การผลิตเหล็กในระดับสูงของจีน เมื่อคำนวณรวมกับความต้องการใช้เหล็กของ sector ต่างๆ ที่ย่ำแย่ ทำให้สต๊อกเหล็กสำเร็จรูปและเหล็กกึ่งสำเร็จรูปของจีนอยู่ที่ราว 100 ล้านตัน(รวมเหล็กชนิดต่างๆ)ในปลายเดือนมีนาคม2563 ซึ่งสูงเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562   ปริมาณสต๊อกเหล็กจะเริ่มลดลงในเดือนเมษายน แต่ยังคงสูงเป็นระดับที่ผิดปกติ  กลางเดือนเมษายนเนื่องจากการผลิตที่สูง แต่ความต้องการฟื้นตัวช้า

 

เตือนรับมือสต๊อกเหล็กจีน 100 ล.ตัน ระบายออกทั่วโลก

 กรกฎ ผดุงจิตต์

นอกจากนี้สต๊อกเหล็กเส้นที่อยู่กับผู้ค้าเหล็กในเมืองหางโจวทางตะวันออกของจีนยังคงสูงกว่าปีก่อนหน้า 75% ในช่วงกลางเดือนเมษายน ปีนี้ แต่ต่ำกว่าจุดสูงสุดในกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 8% อย่างไรก็ตามจากการเคลื่อนไหวของจีนโดยการระบายสต๊อกเหล็กออกมานอกประเทศทำให้หลายประเทศผู้ผลิตเหล็กต้องเตรียมรับมือ

ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ว่าผลผลิตเหล็กดิบในไตรมาสแรกของจีนเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายปีแตะที่ 234.45 ล้านตัน แม้ว่าภาคธุรกิจที่เป็นผู้ใช้เหล็ก รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน และภาคการผลิต ลดลงอย่างรุนแรงจากผลของการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา

แพลตต์ส (Platts) ผู้ให้บริการข้อมูลด้านพลังงานและโลหะชั้นนำระดับโลก คาดการณ์ว่าการผลิตเหล็กดิบและเหล็กดิบของจีนในเดือนเมษายนจะยังคงเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 68.5 ล้านและ 84.5 ล้านตันต่อปีแม้ว่าจะลดลง 1.9% และ 0.6% ในปีนี้

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง ความขัดแย้งระหว่างอุปสงค์เหล็กที่ตกต่ำ สินค้าคงคลังที่พุ่งสูงขึ้น และการผลิตเหล็กที่สูงในประเทศจีน เนื่องจากจีนอาจจะฉีดสภาพคล่องระยะสั้นในปริมาณที่มากเกินพอในไตรมาสที่ 1 เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจจึงทำให้โรงเหล็กสามารถผลิตเหล็กออกมาได้ในปริมาณมาก  แม้ว่า ปริมาณเงินสดจำนวนมากดังกล่าวของทั้งโรงเหล็กและผู้ค้าเหล็กได้ส่งผลเชื่อมโยงให้สินค้าคงคลังขยายตัว

 

นายพงศ์เทพ เทพบางจาก รองประธานอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สัญญาณอันตรายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กไทย ถูกส่งออกมาจากภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กจีนมานานพอสมควรแล้ว หลายประเทศทั้งฝั่งอเมริกา ยุโรป หรือแม้แต่เอเชียด้วยกันต่างก็มีวิธีการรับมือจากการถล่มราคาเหล็กถูกๆจากจีน โดยใช้เครื่องมือ เอดี และ เซฟการ์ด อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

เตือนรับมือสต๊อกเหล็กจีน 100 ล.ตัน ระบายออกทั่วโลก

พงศ์เทพ เทพบางจาก

“ผิดกับไทยที่ดูเหมือนว่าจะกังวลกับหลายๆ เรื่องทั้งประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงประเด็นผู้มีส่วนได้เสียแม้ว่าเป็นส่วนน้อยแต่อาจมีเสียงดัง ทำให้การแก้ปัญหานี้ดูไม่ราบรื่นเท่าที่ควรจนผู้ผลิตหลายรายถอดใจเลิกผลิตหันมานำเข้าแทน จนต้องเลิกจ้างคนงาน คนงานในอุตสาหกรรมเหล็กจึงตกงานจำนวนมาก”