อินโดนีเซีย เล็งจับคู่กับ 4 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อทำข้อตกลง ทราเวล บับเบิล (travel bubble) หรือ การจับคู่ประเทศท่องเที่ยว หวังกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 และการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ซึ่งทำให้ผู้คนไม่ออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น
อินโดนีเซีย เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก และกำลังอยู่ในช่วงผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เดอะ จาการ์ตา โพสต์ สื่อใหญ่ของอินโดนีเซียรายงานว่า หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ประเทศสิงคโปร์ได้ประกาศแผนจะจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับจีน ซึ่งเรียกอย่างลำลองว่า ข้อตกลงฟาสต์เลน (fast lane) หรือ ช่องทางด่วนการท่องเที่ยว ระหว่างกัน และประเทศไทยก็มีแผนจะจับคู่ทำข้อตกลง “ทราเวล บับเบิล” กับประเทศอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องมีช่วงกักตัวเมื่อเดินทางมาถึง โดยเรื่องนี้กำลังอยู่ในระหว่างการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ทำให้ทางอินโดนีเซียเอง มีดำริจะจัดทำจับคู่ประเทศท่องเที่ยวในลักษณะเดียวกันนั้น กับประเทศที่อินโดนีเซียเห็นว่ามีศักยภาพที่จะทำโครงการร่วมกัน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวว่า แนวคิดเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยจับคู่กันเพียงไม่กี่ประเทศนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดแต่ก็กำลังมีการหารือในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าควรจะทำช่องทางด่วนการท่องเที่ยวให้ออกมาเป็นลักษณะอย่างไร
อ่านเพิ่มเติม ชง "ทราเวล บับเบิ้ล" เข้า ศบค.เคาะศุกร์นี้ ย้ำมีเอ็มโอยูจับคู่ประเทศชัดเจน
คำนิยามของ “travel bubble” หรือที่บางแห่งก็เรียก “travel corridor” นั้น หมายถึงข้อตกลงที่ประเทศซึ่งประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำขึ้นระหว่างกัน เพื่อที่จะเปิดประเทศให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายเดินทางไปมาหาสู่และท่องเที่ยวกันได้โดยไม่ต้องมีอุปสรรคเกี่ยวกับการเว้นระยะเวลาเพื่อการกักกันตัวเมื่อเดินทางมาถึง
หลายหน่วยงานของอินโดนีเซีย เช่น สำนักประสานงานกิจการการเดินเรือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กำลังหารือกันเกี่ยวกับรายละเอียดของเรื่องนี้ และประเทศที่อินโดนีเซียเล็งจับคู่เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวร่วมกันนั้น มี 4 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
นายโอโด มานูฮูตู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอินโดนีเซีย กล่าวว่า ทั้ง 4 ประเทศที่ถูกเลือกมาจับคู่ทำข้อตกลง “ทราเวล บับเบิล” กับอินโดนีเซียนั้น ล้วนเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเดินทางมายังอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก สำหรับในอนาคตอันใกล้นั้น คาดว่าผู้ที่จะได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้เป็นกลุ่มแรก ๆ ก็คือ บรรดานักธุรกิจที่จำเป็นต้องเดินทางไป ๆมา ๆ ระหว่างอินโดนีเซียและประเทศเหล่านี้ จากนั้นจึงจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าน่าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
เมื่อเร็ว ๆนี้ กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ได้เริ่มการเจรจาหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการจัดตั้ง “ทราเวล บับเบิล” ก่อนที่จะมีการลงนามโดยอินโดนีเซียและรัฐบาลของทั้ง 4 ประเทศเป็นลำดับถัดไป
นายแกรี ควินแลน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศอินโดนีเซีย ให้ความเห็นว่า การจำกัดการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างอินโดนีเซียและออสเตรเลีย (IA-CEPA) ที่ผ่านการรับรองแล้วก่อนหน้านี้ และกำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 ก.ค. 2563 ออสเตรเลียจึงคาดหวังว่า เมื่ออินโดนีเซียยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทาง นักเดินทางที่เป็นนักธุรกิจซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปนั้น จะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับความสำคัญ จากนั้นถัดไปจึงเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน หลายประเทศรวมทั้งอินโดนีเซีย ยังมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ให้นักเดินทางจากต่างประเทศที่เดินทางมาถึง จำเป็นต้องมีช่วงเวลากักตัว 14 วัน (14-day quarantine) ซึ่งหากเป็นกรณีการเดินทางมาเพื่อทำธุรกิจ ถือว่าระยะเวลาดังกล่าวนั้นนานมากเกินไป หลายฝ่ายจึงเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะจัดทำข้อตกลงจับคู่ประเทศท่องเที่ยว หรือ ทราเวล บับเบิล กับประเทศอื่น ๆ ไม่เช่นนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางของอินโดนีเซียก็อาจจะถูกชาติอื่นแซงหน้าไป
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายคัดค้านการเปิดประเทศเร็วเกินไป เนื่องจากเกรงว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกลับมาลุกลามเป็นรอบที่สอง ก็ออกมาติงเตือนว่า อินโดนีเซียจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจว่า ประเทศที่จะมาทำข้อตกลง “ทราเวล บับเบิล” กับอินโดนีเซียนั้น ต้องไม่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ภายในประเทศ ซึ่งหากใช้เงื่อนไขนี้ ก็จะเหลือเพียงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และไต้หวัน ที่เข้าข่าย ส่วนในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน ก็เหลือเพียงเวียดนาม และไทยเท่านั้น ที่เหมาะสมจะทำ “ทราเวล บับเบิล” กับอินโดนีเซีย
สำหรับอินโดนีเซียเอง ปัจจุบัน (ในระยะ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา) มียอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่อัตราเฉลี่ยราว 1,000 คน/วัน และเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียเพิ่งจะแถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ 1,017 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 39,294 คน
ข้อมูลอ้างอิง
Indonesia eyes ‘travel bubble’ for four countries in Asia Pacific
Singapore and China set strict rules for airtight 'travel bubble'