กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาได้ยื่นฟ้อง กูเกิล ยักษ์ใหญ่เสิร์ชเอนจิน ในข้อหา ละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด เนื่องจากกูเกิล ผูกขาดตลาดบริการสืบค้นข้อมูลออนไลน์ ซึ่งส่งผลเสียต่อบรรดาคู่แข่งและผู้บริโภค
สำนักข่าวเกียวโดรายงานวันนี้ (21 ต.ค.) ว่า การฟ้องร้องดังกล่าวถือเป็นคดีแรกนับตั้งแต่ที่บริษัท ไมโครซอฟท์ เคยโดนฟ้องคดีเดียวกันนี้เมื่อปี 2541 โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐเปิดเผยว่า รัฐบาลต้องการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดอีกครั้ง เพื่อฟื้นฟูการแข่งขัน และเปิดประตูสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ
ด้านตัวแทนของบริษัทกูเกิลได้ออกมาวิจารณ์การฟ้องร้องดังกล่าวทันที โดยระบุในแถลงการณ์ว่า การฟ้องร้องนี้ "มีข้อบกพร่องอย่างมาก" และ "ไม่ได้ช่วยผู้บริโภคแต่อย่างใด"
"คนใช้กูเกิลเพราะพวกเขาเลือกเอง ไม่ได้ถูกบังคับให้เลือก หรือหาทางเลือกอื่นไม่ได้" กูเกิลระบุในแถลงการณ์ พร้อมเตือนว่า การที่รัฐบาลฟ้องร้องกูเกิลอาจเป็นการ "สนับสนุนให้มีบริการสืบค้นข้อมูลที่มีคุณภาพต่ำกว่า และจะทำให้คนใช้งานเข้าถึงบริการสืบค้นที่พวกเขาต้องการได้ยากมากขึ้น"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พนักงาน "กูเกิล" ได้ทำงานจากบ้านถึงสิ้นปี
กูเกิลประกาศเปิดตัวแอนดรอยด์11 บนมือถือ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2541 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ เคยยื่นฟ้องคดีต่อต้านการผูกขาดต่อไมโครซอฟท์ โดยประเด็นหลักในช่วงเวลานั้นคือการที่ไมโครซอฟท์จัดทำโปรแกรมอื่น ๆ ร่วมกับระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์เองประกอบกับการดำเนินการผูกขาดตลาด ซึ่งกระทรวงยุติธรรมกล่าวหาไมโครซอฟท์ว่า เป็นการยากที่ผู้บริโภคจะติดตั้งซอฟต์แวร์คู่แข่งบนคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ จนที่สุดไมโครซอฟท์ถูกรัฐบาลกลางและรัฐ อีก 21 รัฐ ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล
ปัจจุบันภาพลักษณ์ของกูเกิลเองถูกมองไม่แตกต่างไปจากไมโครซอฟท์ ที่ได้รับทั้งเสียงชื่นชม แต่ก็ถูกมองด้วยความหวาดกลัวไปพร้อม ๆกัน ด้วยความที่เส้นทางของกูเกิลแทบไม่แตกต่างจากไมโครซอฟท์ นั่นคือใช้อำนาจผูกขาดจากความนิยมที่ได้รับ ในการขยายธุรกิจและครอบงำเครือข่ายบนโลกแห่งธุรกิจการสืบค้น (search engine) นอกจากนี้ ยังขยายขอบข่ายช่วงชิงพื้นที่โฆษณาเข้าสู่ยูทูบ (YouTube) สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิลเอง รวมทั้งเว็บบราวเซอร์ในสังกัดอย่างเช่นกูเกิลโครม (Chrome)
ไม่เพียงเท่านั้น กูเกิลยังบุกเจาะขยายตลาดในทุกภาคส่วน รวมทั้งในธุรกิจบริการให้ข้อมูลร้านค้าและร้านอาหาร ตอบสนองการให้ข้อมูลด้านการช็อปปิ้งและท่องเที่ยว ซึ่งนำไปสู่ข้อครหาที่ว่ากูเกิลกำลังหากินกับคำค้น ที่ก่อนหน้านี้ได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้ทั่วโลก