กรมอุตุนิยมวิทยาประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า แผ่นดินไหวขนาด 7.1 แมกนิจูด นอกชายฝั่งภาคตะวันออกเมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 ก.พ.) เป็น อาฟเตอร์ช๊อค ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูดที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวก็คือบริเวณเดียวกันนี้
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมาและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 ตัวของโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ถึงขั้นกัมมันตรังสีรั่วไหล รัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นต้องสั่งอพยพประชาชนกว่าแสนคน และปิดโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ทั่วประเทศ ยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 20,000 คนและผู้ไร้บ้านอีกจำนวนนับล้าน ทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกบันทึกว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายมากที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น
แต่สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 ก.พ.) นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ออกมาแถลงสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเช้าวันนี้ (14 ก.พ.) โดยระบุว่า หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ไม่มีรายงานสิ่งผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตอนนี้ยังคงมีการตรวจสอบและประเมินความเสียหายในภาพรวมที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ทางการขอให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว อย่าออกไปไหน ขอให้อยู่ภายในบ้านเรือนของตัวเอง และขอให้เตรียมพร้อมรับมือกับอาฟเตอร์ช๊อก หรือแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาเป็นระยะๆ
ข้อมูลจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่า แผ่นดินไหวขนาด 7.1 แมกนิจูดเมื่อวันเสาร์ เกิดขึ้นในเวลา 23.07 น. เวลาท้องถิ่น จุดศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่งจังหวัดนามิเอะ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ห่างชายฝั่งออกไป 73.9 กิโลเมตร และอยู่ลึกลงไปใต้ดินราว 57.9 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่น รายงานยอดผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 48 คนในจังหวัดฟุกุชิมะและจังหวัดมิยางิ ไม่มีการประกาศเตือนสึนามิ อย่างไรก็ตาม แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวทำให้เกิดแผ่นดินถล่มและไหลลงมาปิดกั้นถนนเส้นทางด่วนโจบัน เอ็กซ์เพรสเวย์ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่ใช้ในการสัญจรทางด้านชายฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น พื้นถนนบางส่วนในจังหวัดมิยางิถูกแรงดันแผ่นดินไหวยกขึ้นสูงกว่าระดับปกติถึง 10 เมตร
แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้ยังทำให้ไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ โดยในเขตคันโตซึ่งครอบคลุมเขตเมืองหลวงโตเกียว ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างครอบคลุม 830,000 ครัวเรือน ส่วนเขตโทโฮคุ ไฟดับครอบคลุม 90,000 ครัวเรือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง