สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านการก่อรัฐประหารในเมียนมา เสียชีวิตเพิ่มอีกอย่างน้อย 22 รายเมื่อวานนี้ (14 มี.ค.) ที่เขตไลง์ตายาในเมืองย่างกุ้ง โดยเจ้าหน้าที่ได้ยิงใส่กลุ่มผู้ประท้วง หลังเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานทุนจีนในพื้นที่ดังกล่าว
สื่อต่างประเทศรายงานว่า เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังมีกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่ายจุดไฟเผาโรงงานสิ่งทอที่เขตไลง์ตายา โดยโรงงานเหล่านี้เป็นโรงงานที่มีนักลงทุนจีนเป็นนายทุน ส่งผลให้มีพนักงานคนจีนได้รับบาดเจ็บและหาทางออกไม่ได้ ทางสถานทูตจีนจึงขอให้ทางการเมียนมาเข้ามาปกป้องทรัพย์สินและพลเมืองจีน
ทั้งนี้ จีนถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารของเมียนมาที่ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยหลายฝ่ายมองว่า รัฐบาลจีนปิดปากเงียบสนิทและไม่ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ริดรอนประชาธิปไตยในเมียนมา ต่างกับรัฐบาลประเทศตะวันตกและประชาคมโลกที่ออกมาประณามรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างชัดเจน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาจึงมีการขู่ทำลายสินทรัพย์ของจีนในเมียนมา
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า พบผู้ประท้วงเสียชีวิตอีก 16 รายในพื้นที่อื่นๆ ของเมียนมาวานนี้ ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 ราย ส่งผลให้วันที่ 14 มี.ค.2564 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมและการสลายการชุมนุมรวมกันอย่างน้อย 39 ราย นับว่าเป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการก่อรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่กองทัพเมียนมาก่อเหตุรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพรวมทั้งนักเรียน-นักศึกษาและนักบวช พากันรวมตัวชุมนุมประท้วงรายวัน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ออกมาแสดงท่าทีต่อต้านคณะรัฐประหาร และร่วมแสดงพลัง “อารยะขัดขืน”
รัฐบาลทหารเมียนมาเคยปกครองประเทศมานานเกือบ 50 ปี ก่อนที่จะถ่ายโอนอำนาจให้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งนำโดย นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เมื่อราว 10 ปีก่อน และได้จัดการเลือกตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2558 ซึ่งทำให้พรรค NLD ของนางซูจีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
ต่อมา รัฐบาลของนางซูจีได้จัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 8 พ.ย.ปีที่แล้ว (2563) ซึ่งพรรค NLD ก็คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ได้ส่งผลให้กองทัพเมียนมาออกมาทำรัฐประหาร โดยอ้างว่ามีการโกงเลือกตั้ง และกองทัพจำเป็นต้องยึดอำนาจตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ทำการตรวจสอบการโกงเลือกตั้งดังกล่าว
จนถึงขณะนี้นางอองซาน ซูจี ซึ่งถูกกองทัพควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเธอถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหนและมีความเป็นอยู่เช่นไร มีเพียงข่าวที่ว่าเธอถูกฟ้องร้องดำเนินคดีถึง 3 กระทงแล้ว โดยล่าสุดเป็นข้อกล่าวหาทุจริตคอร์รัปชันและรับสินบนขณะดำรงตำแหน่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: