ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย และ ยูเครน เพิ่มอุณหภูมิร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง เมื่อทั้งสองฝ่ายสั่ง ขับไล่นักการทูต ตอบโต้กัน โดยรัสเซียเปิดประเด็นด้วยการสั่งขับนักการทูตยูเครนออกพ้นดินแดนรัสเซียภายใน 72 ชั่วโมงด้วยข้อกล่าวหาว่าฝ่ายยูเครน “พยายามล้วงข้อมูลลับ” ของรัสเซีย
ด้านยูเครนก็สาดน้ำมันเข้าใส่ไฟ โดยประกาศขับไล่นักการทูตรัสเซียออกพ้นดินแดนยูเครนภายใน 72 ชั่วโมงเป็นการตอบโต้ การเผชิญหน้าครั้งนี้ทำให้เกิดความหวาดหวั่นขึ้นอีกครั้งว่า รัสเซียอาจกำลังมีแผนคุกคามยูเครนเหมือนที่เคยทำในปี 2557 เมื่อคราวบุกเข้ายึดครองไครเมียที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน
ความขัดแย้งทางการทูตระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้นเป็นเพียงกรณีล่าสุด และเป็นหนึ่งในหลายกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงเร็ว ๆนี้ นโยบายทางการทูตของรัสเซียนั้นกำลังถูกเพ่งเล็งและเป็นเป้าหมายการตรวจสอบของนานาประเทศ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากสิ่งที่เรียกว่า “พฤติกรรมปรปักษ์” ของนักการทูตรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปล้วงข้อมูลลับ ชักใยอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความวุ่นวาย หรือดำเนินการที่ “ไม่เป็นมิตร” ในประเทศอื่น ๆ
ก่อนหน้านี้ไม่ถึงสัปดาห์ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็เพิ่งสั่งขับนักการทูตรัสเซียจำนวนถึง 10 คนออกนอกประเทศ ด้วยข้อกล่าวหาว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับการ “แทรกแซงการเลือกตั้ง” ในสหรัฐเมื่อปี 2563 ซึ่งการกระทำของสหรัฐ ก็ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการขับนักการทูตสหรัฐออกพ้นรัสเซียและคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคงของสหรัฐอีกหลายคนด้วยกัน
การทูตป่วน ชายแดนรัสเซีย-ยูเครนตึงเครียด
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา อ้างอิงคำแถลงของสำนักงานความมั่นคงกลาง (เอฟเอสบี) ของรัสเซียเมื่อวันเสาร์ (17 เม.ย.) ว่า เจ้าหน้าที่เอฟเอสบีได้ควบคุมตัวนายอเล็กซานเดอร์ โซซอนยุก กงสุลยูเครนประจำสถานกงสุลใหญ่ยูเครน ณ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 เม.ย.) โดย เขาถูกควบคุมตัวไว้นานหลายชั่วโมง ด้วยข้อกล่าวหาพยายามล้วงข้อมูลลับของรัสเซีย
รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัสเซียเคยควบคุมตัวชาวยูเครนหลายคนเนื่องจากบุคคลเหล่านั้นต้องสงสัยว่าเป็นสายลับเข้ามาล้วงข้อมูลในรัสเซีย แต่เท่าที่ผ่านมา เหตุการณ์จับกุมบุคคลระดับ “นักการทูต” แทบไม่เคยเกิดขึ้น ดังนั้น การจับกุมกงสุลผู้นี้ จึงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่านี่อาจเป็นข้ออ้างของรัสเซียที่ถูกนำมาใช้เพื่อการรุกรานยูเครนเหมือนที่เคยทำมาครั้งหนึ่งแล้วในปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่รัสเซียผนวกแคว้นไครเมียของยูเครนเป็นของตนเองและหนุนหลังกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนภาคตะวันออกของยูเครน
เป็นที่สังเกตว่ากองทัพยูเครนปะทะกับกลุ่มกบฏที่มีรัสเซียหนุนหลังรุนแรงขึ้นในปีนี้ โดยมีทหารเสียชีวิตแล้วถึง 30 นายและส่วนใหญ่โดนซุ่มยิง
หน่วยงานข่าวกรองภายในของรัสเซียอ้างว่า นายอเล็กซานเดอร์ ถูกจับได้คาหนังคาเขาขณะพยายามรับเอาข้อมูลลับจากชาวรัสเซียคนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ของเอฟเอสบีกล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสถานะทางการทูตของเขา และถือเป็นปรปักษ์กับรัสเซียอย่างชัดเจน ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียได้เรียกนายวาซิล โปโกตีโล อุปทูตของยูเครน เข้าพบเพื่อแจ้งต่อเขาว่า นักการทูตยูเครนซึ่งต้องสงสัยจารกรรมข้อมูลลับ จะต้องออกจากรัสเซียภายใน 72 ชั่วโมง (เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.)
ด้านกระทรวงการต่างประเทศยูเครนตอบโต้ด้วยการประท้วงว่า การที่รัสเซียควบคุมตัวนักการทูตของตนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัสเซีย และประกาศว่า ยูเครนจะขับนักการทูตอาวุโสของรัสเซียคนหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยโฆษกกระทรวงระบุว่า รัสเซียละเมิดอนุสัญญาด้านการทูตและพยายามขยายความตึงเครียด "เพื่อตอบโต้การยั่วยุดังกล่าว นักการทูตอาวุโสของสถานทูตรัสเซียในกรุงเคียฟคนหนึ่งจะต้องออกจากดินแดนยูเครนภายใน 72 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย."
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา รัสเซียได้เพิ่มกำลังทหารจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาตามบริเวณแนวชายแดนที่ติดกับยูเครน ทำให้ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากโลกตะวันตก ซึ่งผู้นำตะวันตกหลายคน ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เลิกพฤติกรรมข่มขู่ยูเครนเสียที
ความขัดแย้งกับเช็ก โปแลนด์ สหรัฐ และอิตาลี
นอกจากยูเครนแล้ว รัสเซีย ยังสร้าง ความขัดแย้งทางการทูต กับอีกหลายประเทศ เขียนเป็นไทม์ไลน์ไล่ย้อนจากใกล้สุดกลับไปยังเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นได้ดังนี้ คือ เมื่อวันเสาร์ (17 เม.ย. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เปิดกรณีขัดแย้งกับยูเครน) รัฐบาลสาธารณรัฐเช็ก ได้ประกาศขับนักการทูตรัสเซียจำนวนถึง 18 คน โดยให้เหตุผลว่า หน่วยข่าวกรองเช็ก ตรวจสอบพบสายลับของสำนักงานเอสวีอาร์และจีอาร์ยูซึ่งเป็นหน่วยงานของรัสเซีย เป็นผู้ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์วางระเบิดคลังแสงในเช็กเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2557 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีชาวเช็กเสียชีวิต 2 คน ตำรวจเช็กกำลังตามล่าตัวชาวรัสเซีย 2 คนที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับระเบิดครั้งนี้
ข่าวระบุว่า พาสปอร์ตที่ผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คนใช้ ยังเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อผู้ต้องสงสัย 2 คนที่รัฐบาลอังกฤษกำลังต้องการตัว ฐานพัวพันกับคดีลอบวางยาพิษหวังสังหารนายเซอร์เกย์ สกรีปัล สายลับสองหน้าชาวรัสเซีย ที่เมืองซอลส์บรีของอังกฤษเมื่อปี 2561
รัสเซียตอบโต้เช็กอย่างเผ็ดร้อน ด้วยการประกาศขับไล่นักการทูตเช็กจำนวน 20 คนออกพ้นดินแดนรัสเซีย โดยขีดเส้นตายให้เวลาเพียง 24 ชั่วโมง
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันพฤหัสฯ (15 เม.ย.) ทางการโปแลนด์ก็เพิ่งประกาศขับนักการทูตรัสเซีย 3 คนที่ "ดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอันตราย" ต่อโปแลนด์
วันเดียวกัน (15 เม.ย.) สหรัฐอเมริกาไม่ทนกับพฤติกรรมของรัสเซียที่มีทั้งการ “แทรกแซง” การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ การโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่(โดยแฮคเข้าระบบคอมพิวเตอร์เพื่อล้วงข้อมูลลับของสหรัฐ) และกิจกรรมปรปักษ์อื่นๆ ของรัสเซีย จึงประกาศแซงก์ชันรัสเซียอีกระลอก และขับนักการทูตรัสเซียถึง 10 คนออกจากสหรัฐ
ซึ่งการตัดสินใจของสหรัฐครั้งนี้ ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการประกาศขับนักการทูตสหรัฐออกจากดินแดนรัสเซียเช่นกัน นอกจากนี้ ยังคว่ำบาตรห้ามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐหลายคนเข้าประเทศรัสเซีย ได้แก่ นาย เมอร์ริค การ์แลนด์ รัฐมนตรียุติธรรม, นางซูซาน ไรซ์ หัวหน้าที่ปรึกษานโยบายภายในประเทศ , นายคริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ, นายอเลฮันโดร มายอร์คัส รัฐมนตรีความมั่นคงภายในประเทศ และเอฟวริล เฮนส์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ
ย้อนไปเมื่อต้นเดือนนี้ อิตาลีเป็นอีกประเทศที่สั่งเนรเทศทูตรัสเซีย 2 คน ภายหลังพบว่าเรือเอกนายหนึ่งถูกจับได้พร้อมหลักฐานว่าเขากำลังส่งมอบเอกสารลับให้แก่สายลับรัสเซีย
สร้างศัตรูรอบทิศ แต่ก็ไม่สะทกสะท้าน
"พฤติกรรมปรปักษ์" ของรัสเซียไม่ได้มีเฉพาะกับต่างชาติเท่านั้น แต่ภายในประเทศรัสเซียเอง ประเด็นการวางยาพิษเพื่อพยายามสังหารนายอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านที่ปักหลักอยู่ฝั่งตรงข้ามและวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แบบหมูไม่กลัวน้ำร้อน ก็ทำให้โลกตะวันตกจ้องหาจังหวะเอาเรื่องผู้นำรัสเซียตาไม่กระพริบอยู่เช่นกัน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา เคยให้เรียกประธานาธิบดีปูตินออกสื่อว่าเป็น "ฆาตกร" พร้อมระบุว่า สหรัฐกำลังวางแนวนโยบายที่แข็งกร้าวกับปูตินมากขึ้น ล่าสุด สหรัฐรวมทั้งชาติตะวันตกอีกหลายประเทศได้ออกโรงเตือนผู้นำรัสเซียว่า ถ้าหากนายอเล็กเซ ที่ตอนนี้กำลังอดอาหารประท้วงอยู่ในคุกที่รัสเซีย มีอันถึงแก่ความตาย รัสเซียจะต้องชดใช้อย่างสาสม
แรงกดดันจากชาติตะวันตกเป็นพลังจากภายนอก ส่วนภายในประเทศรัสเซีย กลุ่มผู้ให้การสนับสนุนนายอเล็กเซ ได้ออกมาประกาศแผนรวมพลังชุมนุมประท้วงทั่วประเทศซึ่งพวกเขาคาดว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของรัสเซียในวันพุธที่จะถึงนี้ (21 เม.ย.)
แพทย์ระบุเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (17 เม.ย.) ว่า อาการของนายอเล็กเซอยู่ในขั้นวิกฤต ผลตรวจทางการแพทย์พบว่าไตของเขาอาจมีปัญหา และนำไปสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นได้
ความเป็นความตายของนายอเล็กเซ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีปูตินซึ่งโด่งดังมากที่สุด ทำให้ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับประเทศตะวันตกที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ยิ่งหน่วงหนักเข้าไปอีก เป็นที่คาดหมายว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) จะหารือกัน เกี่ยวกับชะตากรรมของนายอเล็กเซวันจันทร์นี้ (19 เม.ย.) โดยนายโจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู ให้คำมั่นว่า รัสเซียจะต้องรับผิดชอบหากนายอเล็กเซมีอันเป็นไป เช่นเดียวกับที่ผู้นำสหรัฐระบุว่า มอสโกจะต้องรับผลของเรื่องนี้อย่างสาสม
อีกหนึ่งผู้นำชาติตะวันตก คือนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ถึงกับออกมาประกาศกร้าวว่า บรรดาชาติมหาอำนาจจะขีดเส้นตายอย่างชัดเจนให้รัสเซียคิดดูให้ดี ทั้งนี้ โลกตะวันตกพร้อมพิจารณามาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆเพิ่มเติมเท่าที่จะเป็นไปได้หากพฤติกรรมปรปักษ์ของรัสเซียเข้ามาอยู่ในเขตแดนที่ประเทศตะวันตกมองว่า “ล้ำเส้น”
ถามว่ารัสเซียสะทกสะท้านกับคำข่มขู่ของโลกตะวันตกหรือไม่ การแสดงออกล่าสุดที่ตอบโต้ทางการทูตแบบตาต่อตา-ฟันต่อฟันคงพอจะบ่งบอกได้ว่า “ไม่”
ประธานาธิบดีปูตินนั้นมั่นใจกับอำนาจที่เพิ่งได้รับการต่ออายุจนยืนยาวแทบจะไร้กำหนด ซ้ำยังยืนยันตลอดมาว่า รัสเซียไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับการลอบวางยาพิษนายอเล็กเซ สอดประสานกับการออกมาแถลงของเจ้าหน้าที่รัสเซียที่ว่า นายอเล็กเซเล่นเกมซ้ำเติมสุขภาพของตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจ และตัวเขาเองที่เป็นฝ่ายปฏิเสธการดูแลรักษาของทางเรือนจำ ขณะที่การเผชิญหน้ากับยูเครน ก็เห็นได้ชัดว่า รัสเซียไม่ได้มีทีท่าจะยอมอ่อนข้อ ในทางตรงข้ามกลับส่งกองกำลังเข้าตรึงพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนรัสเซีย-ยูเครนเพิ่มมากขึ้น
ต้องดูการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในรัสเซียวันพุธนี้ว่าจะสั่นคลอนความมั่นใจของประธานาธิบดีปูตินได้มากน้อยเพียงใด นั่นจะเป็นด่านทดสอบแรก หรืออาจจะเป็นคำตอบสุดท้ายว่าผู้ที่ท้าทายอำนาจของผู้นำรัสเซียนั้นจะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตา มติต่ออายุ "ปูติน" บนเก้าอี้ประธานาธิบดีรัสเซีย
ร่างกม.ใหม่รัสเซีย พุ่งเป้าให้เอกสิทธิ์ "ปูติน" ไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญาตลอดชีวิต
อ่านเกม “ปูติน” พลิกขั้วอำนาจการเมืองรัสเซีย