นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในวันที่1 พฤษภาคม 2564 กระทรวงการต่างประเทศ โดยความอนุเคราะห์จาก กองทัพอากาศ กำหนดจัด เที่ยวบินพิเศษจากกรุงเทพฯ – กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ด้วยเครื่องบิน Airbus – A320 ของกองทัพอากาศ ออกจากประเทศไทยเวลา 07.00 น. เพื่อนำอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับมอบจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไทย ไปให้ความช่วยเหลือแก่อินเดียเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 และพร้อมกันนี้ เที่ยวบินดังกล่าวจะนำ คนไทยที่ติดเชื้อโควิด-19 เข้ามารับการรักษาต่อในประเทศไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ความช่วยเหลือที่จะนำไปมอบให้แก่อินเดีย ประกอบด้วย เครื่องผลิตออกซิเจน (oxygen concentrator) ขนาดเล็ก 25 ชุด เตียงกระดาษจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (Siam Cement Group – SCG) จำนวน 200 เตียง โดยจะส่งมอบผ่านสภากาชาดอินเดีย (India Red Cross Society)
นอกจากนี้ เที่ยวบินพิเศษดังกล่าวจะนำเครื่องผลิตออกซิเจน (oxygen concentrator) ที่สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยและชุมชนอินเดียในไทยได้จัดเตรียมไว้ รวมทั้งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปสนับสนุนภารกิจดูแลคนไทยของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลีด้วย
2. เที่ยวบินดังกล่าวจะเดินทางกลับในเวลา 17.30 น.ของวันเดียวกัน (1 พฤษภาคม 2564) โดยจะนำชาวไทย และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงนิวเดลีและเมืองใกล้เคียงซึ่งประสบปัญหาในการได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลท้องถิ่น กลับมายังประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่เดินทางกลับด้วยเที่ยวบินพิเศษ ประกอบด้วยผู้ที่มีอาการติดเชื้อโควิด 3 ราย และผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด 1 ราย เนื่องจากทำงานใกล้ชิดกับข้าราชการที่ติดเชื้อ โดยผู้ที่มีอาการหนักที่สุดมีอาการติดเชื้อในปอดทั้งสองข้าง มีไข้สูง ซึ่งแพทย์เห็นว่าควรได้รับการรักษาเป็นการเร่งด่วนเพื่อติดตามอาการและค่าออกซิเจนในเลือดอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรงพยาบาลท้องถิ่นไม่สามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มได้และมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
3. สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานเครือข่ายคนไทยในกรุงนิวเดลีและเมืองใกล้เคียงถึงความประสงค์ที่จะเดินทางกลับประเทศไทยในเที่ยวบินพิเศษดังกล่าว รวมทั้งข้าราชการทีมประเทศไทยและครอบครัว โดยได้รับแจ้งว่ามีคนไทยติดเชื้อ 3 คน อาศัยอยู่ในกรุงนิวเดลี 2 คนและเมืองลัคเนาว์ 1 คน ทั้ง 3 คนไม่ประสงค์ที่จะเดินทางกลับไปรักษาที่ประเทศไทย เนื่องจากส่วนหนึ่งมีครอบครัวอยู่ที่อินเดียและไม่สามารถทิ้งครอบครัวไปได้ และบางส่วนไม่ประสงค์ที่จะเดินทางกลับไปรักษาที่ประเทศไทย
ภารกิจดังกล่าวสะท้อนมิตรภาพอันดีและใกล้ชิดระหว่างไทยกับอินเดียในฐานะมิตรประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในยามวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสาธารณสุขและ การรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือโควิด-19 ระหว่างกันเมื่อปี 2563 โดยฝ่ายอินเดียได้อนุมัติการส่งออกยาสำคัญในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้กับไทยเมื่อปี2563 และยังสะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานของฝ่ายอินเดีย ในการร่วมมือกันเพื่อรับมือกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในอินเดีย และให้ความช่วยเหลือคนไทยในอินเดียซึ่งได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน
ในโอกาสนี้ กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณกองทัพอากาศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทุกหน่วยงานที่สนับสนุนภารกิจอย่างใกล้ชิดและรวดเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง