ห่วงวัคซีนปนเปื้อน แคนาดาสั่งเบรกการใช้วัคซีนโควิดของจอห์นสันฯ 3 แสนโดส

12 มิ.ย. 2564 | 23:37 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2564 | 00:22 น.

แคนาดาสั่งยุติการแจกจ่ายวัคซีนโควิดล็อตหนึ่งของบริษัทจอห์นสันฯ ที่เพิ่งส่งมอบเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา จำนวนถึง 3 แสนโดส หลังมีข่าวโรงงานผลิตที่บัลติมอร์ทำสารผลิตปนเปื้อนจนทำให้ FDA สหรัฐ สั่งบริษัทห้ามใช้วัคซีนที่อาจเกิดการปนเปื้อนยกล็อต

กระทรวงสาธารณสุขของแคนาดา เปิดเผยเมื่อสุดสัปดาห์ (11 มิ.ย.) ว่า จะไม่แจกจ่าย วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) จำนวน 300,000 โดสซึ่งส่งมาถึงแคนาดาในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของวัคซีนดังกล่าว

แถลงการณ์ของกระทรวงระบุว่า สาธารณสุขแคนาดาจะไม่แจกจ่ายวัคซีนดังกล่าว เพื่อปกป้องด้านสุขภาพและความปลอดภัยให้กับชาวแคนาดา เนื่องมาจากความวิตกเกี่ยวกับคุณภาพของสารยา (drug substance) ที่ใช้ผลิตวัคซีนดังกล่าวที่โรงงานของ บริษัท อีเมอร์เจนท์ ไบโอโซลูชั่นส์ อิงค์ ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ ของสหรัฐอเมริกา

โรงงานของบริษัท อีเมอร์เจนท์ ฯ

ข่าวระบุว่า สารยาที่ผลิตในโรงงานแห่งนี้ได้ถูกใช้ในการผลิตวัคซีนล็อตนี้ของแจนเซ่นซึ่งเป็นบริษัทยาในเครือของ J&J

"สารยาดังกล่าวได้ถูกผลิตขึ้นในเวลาที่วัคซีนล็อตหนึ่งถูกปนเปื้อนด้วยส่วนประกอบของวัคซีนที่ต่างกัน ทางกระทรวงสาธารณสุขของแคนาดาไม่สามารถระบุได้ว่า การขนส่งวัคซีนของแจนเซ่นล็อตนี้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพที่เข้มงวดของทางกระทรวงหรือไม่" แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขแคนาดามีขึ้นหลังจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) มีคำสั่งให้ J&J ทำการทิ้งวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวนหลายล้านโดส เนื่องจากพบว่ามีการปนเปื้อน โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งของข่าวระบุว่า หลังจากที่ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาเป็นเวลาหลายสัปดาห์  ในที่สุด FDA ก็ได้มีคำสั่งให้บริษัท J&J ทำการทิ้งวัคซีนโควิด-19 จำนวน 60 ล้านโดสที่มีการผลิตในโรงงานของบริษัทอีเมอร์เจนท์ ไบโอโซลูชั่นส์ อิงค์ เนื่องจากพบว่าอาจมีการปนเปื้อนเกิดขึ้น

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบฉีดเข็มเดียวของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันนั้น ได้รับการอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองและอนุมัติใช้โดยหลายหน่วยงานของนานาประเทศ เช่น สำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) และ FDA สหรัฐอเมริกา รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย ที่รับรองการใช้วัคซีนโควิดของจอห์นสันฯ เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง