องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยวันนี้ (17 มิ.ย.) ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่พบครั้งแรกในอินเดียได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ แล้วกว่า 80 ประเทศ โดยพบว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวยังคงมี การกลายพันธุ์ อย่างต่อเนื่อง
ขณะนี้ในสหรัฐตรวจพบไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาเป็นจำนวน 10% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั้งหมด
งานวิจัยหลายแหล่งระบุว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่ WHO เปิดเผยรายงานที่ได้รับว่า สายพันธุ์เดลตา “อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ด้วย” แต่ในขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยมากเพียงพอที่จะยืนยันข้อมูลดังกล่าว
นอกจากนี้ WHO ยังติดตามรายงานการตรวจพบ สายพันธุ์ "เดลตา พลัส" (Delta Plus) เมื่อไม่นานมานี้ โดยดร. มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายเทคนิคของ WHO กล่าวว่า รายงานชิ้นนี้หมายถึงมีการตรวจพบ “การกลายพันธุ์แบบใหม่” ซึ่งทำให้นักวิจัยต้องตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด
ขณะเดียวกัน WHO ก็ได้เพิ่มรายชื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อีกตัวหนึ่งในรายชื่อสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม โดยให้ชื่อว่า สายพันธุ์แลมบ์ดา (Lambda)
ทั้งนี้ WHO มีการติดตามเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 50 สายพันธุ์ แต่ไม่ใช่ว่าทุกสายพันธุ์จะเป็นอันตรายต่อสุขอนามัยระดับโลกจนต้องเพิ่มในรายชื่อเฝ้าระวัง
ดร. ฟาน เคิร์กโฮฟระบุว่า ไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดามีการกลายพันธุ์หลายจุดในโปรตีนส่วนหนาม ซึ่งอาจส่งผลต่ออัตราการแพร่กระจายของเชื้อได้ แต่ยังไม่มีงานวิจัยมากเพียงพอที่จะทำความเข้าใจเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ได้อย่างสมบูรณ์
ปัจจุบัน นักวิจัยในภูมิภาคอเมริกาใต้จากหลายประเทศรายงานว่า มีการตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดาแล้ว รวมถึงชิลี เปรู เอกวาดอร์ และอาร์เจนตินา โดยความสามารถในการตรวจพบนี้เป็นผลมาจากการยกระดับการตรวจสอบจีโนมของเชื้อไวรัส
มาทบทวนกันหน่อยว่า WHO ได้ตั้งชื่อให้ ไวรัสโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ว่าอย่างไรบ้าง
WHO ให้เหตุผลว่า เนื่องจากชื่อทางวิทยาศาสตร์ของเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์มักจะเรียกยาก จดจำยาก และอาจทำให้เกิดปัญหาการรายงานผิดพลาด หลายคนจึงใช้ชื่อประเทศที่พบเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์เป็นครั้งแรกในการเรียกชื่อสายพันธุ์ ซึ่งแม้จะเป็นวิธีที่ง่ายต่อการกล่าวถึงในชีวิตประจำวัน แต่ก็อาจเป็นการตีตราประชาชนของประเทศนั้นๆได้ ทำให้ WHO หันมาใช้วิธีตั้งชื่อใหม่ให้กับไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ โดยใช้ตัวอักษรกรีกเป็นชื่อเรียกแทน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง