กรมราง เปิด 3 มาตรฐานระบบราง ลดอุบัติเหตุ

17 พ.ค. 2564 | 10:46 น.

กรมราง เดินหน้า 3 มาตรฐานระบบราง หวังลดการเกิดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยระบบขนส่งทางรางของไทยเทียบเท่าสากล เตรียมชงคมนาคมเห็นชอบดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานการขนส่งทางราง ครั้งที่ 4-2/2564 ว่า  ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานทั้ง 3 มาตรฐาน หวังลดปัญหาอุบัติเหตุทางราง พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับปรุงมาตรฐานตามความเห็นที่ประชุม ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมาตรฐานดังกล่าวข้างต้นไปบังคับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

 

กรมราง เปิด 3 มาตรฐานระบบราง ลดอุบัติเหตุ

สำหรับการพิจารณาร่างมาตรฐานการขนส่งทางราง จำนวน 3 มาตรฐาน ได้แก่ 1.มาตรฐานการออกแบบทางรถไฟชนิดไม่มีหินโรยทาง สำหรับทางขนาด 1,435 มิลลิเมตร (Ballastless Track  Design) ซึ่งมีรูปแบบโครงสร้างทาง 2 ประเภทใหญ่ คือ โครงสร้างทางแบบไม่มีหินโรยทางประเภทมีจุดรองรับต่อเนื่องหรือรางแบบฝัง (Embeded Rail System : ERS) และโครงสร้างทางแบบไม่มีหินโรยทางประเภทพื้นทางคอนกรีตเสริมเหล็กแบบต่อเนื่องที่มีระบบยึดเหนี่ยวราง (Continuous Reinforced Concrete (CRC) Slab  Track System)  โดยมาตรฐานดังกล่าวจะนำมาใช้สำหรับระบบขนส่งทางรางในเมือง ชานเมืองและระหว่างเมืองที่มีขนาดทางกว้าง 1,435 มิลลิเมตร   

 

กรมราง เปิด 3 มาตรฐานระบบราง ลดอุบัติเหตุ

2.มาตรฐานการตรวจสอบความเสียหายของรางรถไฟ (Rail Inspection) ซึ่งมาตรฐานนี้ได้แบ่งประเภทความเสียหายของรางเป็น รางที่เสียหาย (Damage rail) รางที่ร้าว (Cracked rail) และรางที่แตกหัก (Broken rail)  การจัดกลุ่มประเภทและกำหนดรหัสความเสียหายของราง ตามลักษณะความเสียหายที่ตำแหน่งต่างๆ ของรางซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้ง  International Railway Solution (IRS 70712 : Rail Defects) และ Union International of Railway (UIC 712 R – Rail Defects) รวมถึงวิธีการตรวจสอบ และคำแนะนำในการบำรุงรักษา ซึ่งนำมาใช้กับการตรวจสอบความเสียหายของรางรถไฟได้ทุกประเภท

 

3. มาตรฐานระบบบังคับสัมพันธ์บนโครงข่ายรถไฟสายประธาน (Interlocking System on Mainline Train) ซึ่งมีการกำหนดคุณลักษณะและคุณสมบัติพื้นฐานของระบบบังคับสัมพันธ์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถ สำหรับรถไฟสายประธานในประเทศไทยของการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

 

อย่างไรก็ตามกรมการขนส่งทางรางอยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา มาตรฐานด้านเครื่องกลและตัวรถขนส่งทางราง มาตรฐานด้านไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ มาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางอื่นๆ เพื่อลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการขนส่งทางรางของประเทศไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง