การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่ลากยาวเป็นปีที่ 2 และไม่มีใครการันตีได้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายหรือจบลงเมื่อใด ในส่วนของคลัสเตอร์โรงงานหรือภาคการผลิตที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออก และช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่ผ่านมาต้องดำเนินในหลายมาตรการเพื่อควบคุม หยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างเต็มพิกัด เพื่อไม่ให้ลุกลามกระทบห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชนของการผลิตจนเป็นอัมพาต ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเวลานี้ปรับตัวสูงขึ้น ทำทุนหาย กำไรหดแทบไม่มีเหลือ
สารพัดมาตรการเพิ่มต้นทุน
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ในส่วนที่เป็นมาตรการบังคับในเวลานี้ขึ้นกับคำสั่งของจังหวัดนั้น ๆ ตัวอย่างมาตรการคำสั่งของจังหวัดสมุทรสาครที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้มและยังมีการระบาดรุนแรงในปัจจุบัน
เช่น โรงงานหรือสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือมีกำลังเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไปต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อคัดแยกกักผู้ติดเชื้อภายในโรงงาน(Factory Accommodation Isolation : FAI) โดยจะต้องมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนพนักงาน หากสถานประกอบการใดไม่ดำเนินการจะเสนอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาปิดโรงงานทันที เป็นต้น
ส่วนมาตรการที่ขอความร่วมมือผู้ประกอบการดำเนินการเอง สำหรับโรงงานที่มีการแพร่ระบาดมีหลายมาตรการโดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามแนวทางมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble & Seal) การจัดให้มีการสุ่มตรวจคัดแยกผู้ติดเชื้อโดยใช้ชุดตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ การจัดทำ Factory Isolate, Factory Quarantine รวมถึงการจัดสถานที่ให้ผู้ติดเชื้อ และผู้สัมผัสเชื้อ เช่น Hospitel Community Isolation เป็นต้น ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละโรงงาน และขึ้นกับดุลยพินิจของผู้ประกอบการ
ล่าสุดคือโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) สำหรับโรงงานขนาดใหญ่ที่มีผู้ประกันตน 500 คนขึ้นไป ที่จะนำร่องใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อปกป้องภาคการผลิต-ส่งออกที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 7 แสนล้านบาท และคงรักษาการจ้างงานกว่า 3 ล้านตำแหน่ง ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ
ขอรัฐควักเงินช่วย
“ปัจจุบันในทุกมาตรการรัฐบาลยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทในด้านงบประมาณ หรือด้านการเงินสนับสนุนผู้ประกอบการ มีเพียงให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนเพื่อขอวัคซีนผ่าน ม.33 ซึ่งการจัดสรรวัคซีนก็ยังไม่ทั่วถึงพนักทุกคนในโรงงาน ซึ่งเสนอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนงบมาตรการ Bubble & Seal หรือมาตรการที่อยู่ในข้อกำหนดของโครงการ Factory Sandbox
โดยสภาอุตสาหกรรมฯเห็นควรว่ารัฐควรสนับสนุนงบฯประมาณ 5 พันล้านบาท นอกจากนี้ให้เร่งจัดหาและกระจายวัคซีนสู่พนักงานในโรงงานให้ได้ 100% และช่วยสนับสนุนการจัดหาสินค้าจำเป็นต่อมาตรการ เช่น ยา อุปกรณ์การแพทย์ วัคซีน ชุดตรวจ ATK เป็นต้น เพราะทุกอย่างเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมทางการเงินไม่เพียงพอ เช่น เอสเอ็มอี อาจขาดทุนและปิดกิจการเพิ่มมากขึ้นได้”
ช่วยค่า รพ.สนาม 1หมื่นต่อเตียง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ตั้งแต่ยุคโควิดเป็นต้นมา ผู้ประกอบการทุกโรงงานมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จากที่ไม่เคยมีต้นทุนเหล่านี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าชุดตรวจ ATK ค่าวัคซีนทางเลือก ค่าดำเนินมาตรการ Bubble & Seal ค่าจัดทำโรงพยาบาลสนามในโรงงาน (FAI) การจัดตั้ง Factory Quarantine, Community Isolation เป็นต้น ซึ่งในโรงงานใดที่มีพนักงานมากก็จะมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ขณะที่ไม่สามารถนำต้นทุนเหล่านี้ไปบวกเพิ่มในราคาสินค้าได้ เพราะหากขายแพงขึ้นก็จะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออก ทำให้เวลานี้ผู้ประกอบการแทบไม่มีกำไร หรือมีกำไรน้อยมาก
“ล่าสุดเราเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการในหลายเรื่อง เช่น ช่วยค่าชุดตรวจ ATK 200 บาทต่อชุด เพราะมาตรการตรวจคัดกรองด้วย ATK 100% ทุก 7 วัน จะเป็นภาระสำหรับผู้ประกอบการมาก อาทิ โรงงานขนาด 300 คน กรณีตรวจ 100% ทุก 7 วัน มีค่าใช้จ่าย 257,143 บาทต่อเดือน ตรวจ 10% ทุก 14 วัน มีค่าใช้จ่าย 12,857 บาทต่อเดือน ซึ่งจากโรงงานที่มีกำลังเครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไปมี 6 หมื่นกว่าโรงงาน คนงานรวมกว่า 3.2 ล้านคนที่ประกันตน"
ถ้าตรวจ 10% ทุก 14 วันก็ตกเดือนละ 160 ล้าน หรือเกือบ 2,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายจะมากหรือน้อยขึ้นกับความถี่ในการตรวจและเปอร์เซ็นต์ของคนงานที่สุ่มตรวจ แต่หากพบผู้ติดเชื้อก็ต้องตรวจคนทั้งโรงงาน ค่าใช้จ่ายก็จะมากขึ้นไปอีก เบื้องต้นเสนอให้ตรวจ 5% ของจำนวนคนงานในทุก 14 วันโดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ในเรื่อง FAI หรือโรงพยาบาลสนามในโรงงานที่บังคับให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนพนักงาน ที่มีต้นทุนการจัดการด้านสถานที่ ระบบรักษาความปลอดภัย และระบบสุขาภิบาลต่าง ๆ ต้นทุนเฉลี่ยตก 1 หมื่นบาทต่อเตียง ขอให้ลดจำนวนเตียงเหลือ 5% ของจำนวนพนักงาน โดยที่ภาครัฐเข้ามาช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย
ตั้ง FAI แต่ขาดหมอ-พยาบาล
นอกจากปัญหาต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มจำนวนมากแล้ว ผู้ประกอบการยังมีปัญหาเรื่องบุคลากรในการทำ FAI ด้วย โดย นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ขณะนี้ในสมุทรสาคร มี FAI หรือโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ ตามนโยบายของทางจังหวัด ( ณ กลางเดือนส.ค. 2564) ประมาณ 1,514 แห่ง และมีเตียงสำหรับให้ผู้ป่วยกักตัวแล้วประมาณ 43,530 เตียง แต่พบมีปัญหาเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะเข้ามาดูแล FAI แต่ละแห่ง มีไม่เพียงพอ ซึ่งต้องนำปัญหากลับไปหารือที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯอีกครั้ง
รายงานเผยว่า จังหวัดสงขลา ได้เปิดโครงการ Songkhla Factory Sandbox โดยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ นำร่องที่บริษัท โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องรายใหญ่ เป็นต้นแบบสำหรับผู้ประกอบการภาคใต้และของประเทศ เพื่อให้โรงงานสามารถเดินหน้าการผลิตได้อย่างต่อเนื่องในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19
โดยใช้มาตรการ Bubble & Seal โดยตรวจคัดกรองเชิงรุกพนักงานทั้งโรงงาน จำนวน 3,712 คน แยกผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวเข้า FAI เพื่อกักรักษา ผู้มีอาการหนักส่งเข้าโรงพยาบาล กลุ่มสัมผัสเสี่ยงแยกตัวกักสังเกตอาการ ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อให้อยู่ในระบบปิดทั้งที่โรงงานและที่พัก โดยทางบริษัทเตรียมห้องพักโรงแรมไว้รองรับ พร้อมรถขนส่งให้เดินทางระหว่างบริษัทกับที่พัก คู่ขนานไปกับที่กลไกสาธารณสุขอยู่ระหว่างดำเนินมาตรการควบคุมโรค
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3708 วันที่ 26-28 สิงหาคม 2564