พิษโควิด โรงงานโอดต้นทุนแฝงอื้อ กำลังผลิตหดเหลือ 70% ผวาส่งมอบสินค้าไม่ทัน

29 ส.ค. 2564 | 18:30 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2564 | 00:30 น.

โรงงานโอด โควิดดันต้นทุนทางตรงและต้นทุนแฝงพุ่ง สวนทางเดินเครื่องได้แค่ 60-70% ของกำลังผลิต ซ้ำต้องเซฟคนไว้สับเปลี่ยนคนติดเชื้อ แจง Bubble & Seal เพิ่มภาระค่าอาหาร-ค่ายาคนงานอื้อ ผวาส่งมอบสินค้าไม่ทันถูกคู่ค้าปรับ หอการค้าฯโวย ม.33 ได้ฉีดวัคซีนแค่ 1.27 ล้านคน

จากที่เวลานี้ผู้ประกอบการโรงงานมีภาระต้นทุนเพื่อป้องกันและรักษาคนงานจากเชื้อ โควิด-19 ที่ลุกลาม สู่คลัสเตอร์โรงงาน เป็นรายวัน เพื่อยังผลให้ภาคการผลิตและส่งออกยังเดินหน้าต่อไปได้ ทำให้ต้องดำเนินในหลายมาตรการเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้า ส่งผลให้มี ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น นั้น

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เวลานี้ผู้ประกอบการมีต้นทุนและภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้ง ค่าใช้จ่ายทางตรงและต้นทุนแฝง โดยต้นทุนทางตรงที่เพิ่มขึ้น และมีส่วนมากกว่า 50% เวลานี้คือ ค่าอาหารและค่ายาสำหรับพนักงาน เป็นผลจากต้องดำเนินตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble & Seal) ที่เป็นมาตรการพื้นฐานที่ทุกรายต้องปฏิบัติในเวลานี้

 

 “มาตรการ Bubble & Seal ทางโรงงานจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในเรื่องอาหารและยา เพราะเราไม่ให้เขากลับบ้าน มีการจัดหาที่พัก หรือหอพักให้เฉพาะเพื่อไม่ให้ออกไปปะปนกับคนทั่วไปเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านอาหารแต่ละรายจะมากแค่ไหนก็ขึ้นกับว่าจะจ่ายให้เขา 2 มื้อ หรือ 3 มื้อ แต่เฉลี่ยจะตก 200-300 บาทต่อคนต่อวัน จากปกติคนงานจะกลับที่พักของเขาและหากินเอง ขณะที่หากมีผู้ติดเชื้อจะมีค่ายา อุปกรณ์การแพทย์ประมาณ 10,000-20,000 บาทต่อคนต่อ 14 วัน ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย และมีต้นทุนการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม(FAI) 7,000-10,000 บาทต่อเตียง ค่าชุดตรวจ ATK ที่โรงงานต้องแบกรับภาระเอง หากมีคนงานจำนวนมาก และตรวจถี่ก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายมาก”

 

พิษโควิด โรงงานโอดต้นทุนแฝงอื้อ กำลังผลิตหดเหลือ 70% ผวาส่งมอบสินค้าไม่ทัน

 

ตัวอย่างค่าใช้จ่ายข้างต้น ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระเอง เพื่อยังผลให้การเดินเครื่องผลิตเพื่อส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตรงตามเวลาที่ตกลงกัน เพราะหาก ล่าช้าอาจถูกปรับได้ ซึ่งในสถานการณ์ส่งออกไทยที่ยังขยายตัวได้ดีในขณะนี้ทุกรายต้อง รักษาฐานลูกค้า เพราะถ้าเสียไปมีคนมาเสียบแทน การเรียกลูกค้ากลับคืนจะมีความยากลำบาก

 

 ขณะเดียวกันยังมี ต้นทุนแฝง (ซึ่งอาจจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายค่าอาหาร-ค่ายา) เพราะการทำ Bubble & Seal ทำให้ไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้เต็มร้อย เวลานี้ภาพรวมลดลงมาเหลือ 60-70% ของกำลังผลิต จากต้องสงวนคนไว้สับเปลี่ยนการทำงานหากมีผู้ติดเชื้อ ทำให้ผลผลิตลดลงไป 30-40%

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

 อย่างไรก็ดี กรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)ได้เห็นชอบโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) นำร่องใน 4 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี) สำหรับสถานประกอบการที่มีผู้ประกันตนเกิน 500 คนขึ้นไป โดยส่วนหนึ่งของมาตรการที่สำคัญคือ สถานประกอบการต้องออกค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองด้วย RT-PCT 100% และการตรวจ Self-ATK ในทุกสัปดาห์ เพื่อแลกกับรัฐบาลที่จะจัดหาและฉีดวัคซีนให้คนงาน 100% สำหรับโรงงานที่เข้าร่วม จะเห็นว่าไม่มีอะไรจะได้มาฟรี ๆ

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า กรณีองค์การเภสัชกรรม (อภ.)ได้เดินหน้าในการจัดซื้อ ATK ราคา 70 บาทต่อชุดจำนวน 8.5 ล้านชุดเพื่อส่งมอบให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุก ในมุมหนึ่งจะช่วยกดราคา ATK ในท้องตลาดที่ตึงตัวและหาซื้อยาก โดยมีราคามากกว่า 200 บาทต่อชุดให้ลดลงมาได้ เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันตามหลักดีมานต์-ซัพพลาย ซึ่งภาคเอกชนหวังราคา ATK ไม่ควรเกิน 100 บาท หรือหากต่ำกว่า 50 บาทต่อชุดเหมือนในต่างประเทศได้จะยิ่งส่งผลดี จะทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก และเชื่อว่าจะช่วยให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อลดลง จากจะสามารถแยกผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกัน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ลงได้มาก

 

พจน์  อร่ามวัฒนานนท์

 

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ล่าสุดหอการค้าไทยได้นำเสนอ 6 มาตรการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ โดยข้อที่เห็นว่าสำคัญที่สุดในขณะนี้คือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรเร่งจัดสรรวัคซีนให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนโดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดลุกลามไปยังจังหวัดใกล้เคียงและส่งผลกระทบกระทบต่อซัพพลายเชนทำให้ภาคโรงงานผลิตส่งออกหรือขายในประเทศสะดุดไปมากกว่านี้ จากปัจจุบันมีผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่เศรษฐกิจหลัก 10 จังหวัดได้รับการฉีดไปแล้วเพียง 1.27 ล้านคน