นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2/26 เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผ่านระบบประชุมทางไกลนั้น โดยในการประชุมครั้งนี้ ญี่ปุ่นได้เสนอให้อาเซียนร่วมจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจเรื่องการเติบโตด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนระหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำนวัตกรรมและแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนมาช่วยยกระดับการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านอุตสาหกรรม ด้านการพัฒนาเขตชนบท และด้านการพัฒนาเขตเมือง เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้พ้นวิกฤตโควิค-19 ได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือในเวทีการประชุมระดับรัฐมนตรีในเดือนหน้า
โดยความคืบหน้าการขยายความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ให้ครอบคลุมเรื่องการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน จากเดิมที่เป็นเพียงการเปิดตลาดการค้าสินค้าเท่านั้น ที่ประชุมได้รับแจ้งจากอินโดนีเซียซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ยังไม่ให้สัตยาบันต่อพิธีสารการขยายความตกลง AJCEP ว่า การดำเนินกระบวนการภายในของอินโดนีเซียเพื่อดำเนินการดังกล่าวใกล้เสร็จสิ้นแล้ว และคาดว่าจะสามารถให้สัตยาบันก่อนการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ความตกลงฉบับปรับปรุงมีผลบังคับใช้ในไม่ช้า เพื่อช่วยส่งเสริมการค้า การค้าบริการ การลงทุนของประเทศสมาชิกได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ขณะที่ในส่วนของการบังคับใช้ตารางการลดภาษี (TRS) ในระบบ HS2017 นั้น กัมพูชาก็ได้แจ้งว่าจะเร่งกระบวนการภายในเพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ทันก่อนการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนกันยายนนี้ เช่นกัน
ทั้งนี้อาเซียนและญี่ปุ่นมีแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งปัจจุบันมีการจัดทำโครงการในภูมิภาคอาเซียน ทั้งหมด 92 โครงการ เป็นโครงการที่ทำกับภาคธุรกิจไทย 22 โครงการ นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือของธุรกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งหมด 40 โครงการ เป็นโครงการทำกับไทยจำนวน 9 โครงการ ซึ่งช่วยผลักดันการอำนวยความสะดวกทางการค้าต่างๆ
ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญทำให้การค้าในภูมิภาครวมถึงการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมูลค่า 30,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 12,565 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.6% และนำเข้าจากญี่ปุ่น 17,632 เพิ่มขึ้น 28.2% สินค้าที่ไทยได้ประโยชน์จากกรอบความตกลงดังกล่าว เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เครื่องหอมหรือเครื่องสำอาง เครื่องหนังและสารฟอกหนัง เป็นต้น