นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวในการสัมมนา “จับคู่กู้เงินคลายทุกข์ SMEs” ช่วงเสวนา “จับคู่กู้เงินช่วย SMEs ได้แค่ไหน คนตัวเล็กจะไปต่อได้อย่างไร?” จัดโดย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดมี SME ที่เป็นผู้ส่งออกได้รับอนุมัติในโครงการจับคู่กู้เงินกับสถาบันการเงินแล้วทั้งสิ้น 252 ราย เป็นเงิน 1,600 ล้านบาท ถือว่าจำนวนยังน้อยเมื่อเทียบกับจำนวน SME ที่เป็นผู้ส่งออกมากกว่า 3 หมื่นราย ที่ยังต้องการเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องอีกมา อย่างไรก็ดีต้องขอบคุณกระทรวงพาณิชย์และสถาบันการเงินที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ และขยายโครงการออกไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน
“ปีนี้โดยเฉพาะในช่วงนี้เศรษฐกิจในต่างประเทศฟื้นเร็ว ขณะที่คู่แข่งที่เป็นผู้ส่งออกส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้น และในเรื่องการส่งออกของเขายังติด ๆ ขัด ๆ การผลิตก็เช่นกันในโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งของเรายังติดเชื้อโควิด ดังนั้นไทยต้องเร่งการส่งออก ซึ่งเอสเอ็มอีถือมีความสำคัญเพราะเป็นองค์กรที่เติมเต็มให้กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพราะเราอยู่กันในลักษณะห่วงโซ่อุปทาน เช่นผลิตรถยนต์ 1 คัน ถ้าไม่มีน็อตซักตัวสองตัวที่ผลิตจากบริษัทขนาดเล็กก็จะส่งออกไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งเอสเอ็มอีถือเป็นฟันเฟืองเล็ก จิ๋วแต่แจ๋ว ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
ทั้งนี้ไทยต้องเร่งการส่งออก เพราะเวลานี้โอกาสมาถึง เพราะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ยุโรป ฟื้นตัว ประกอบค่าเงินบาท ณ วันนี้ 33 บาทกว่าต่อดอลลาร์สหรัฐฯหาที่ไหนไม่ได้ต้องเร่งแล้ว แต่เวลานี้เอสเอ็มอียังพบกับอุปสรรค แม้จะมีจิตใจพร้อม โรงงานพร้อม การตลาดพร้อม แต่ขาดอย่างเดียวคือเงินทุน หากรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ เอ็กซิมแบงก์ และบสย.เข้ามาสนับสนุนทางการเงินจะช่วยเพิ่มศักยภาพและโอกาสส่งออกไทยอีกมาก
สำหรับโครงการจับคู่กู้เงินกับสถาบันการเงินที่สำเร็จแล้ว 252 ราย เป็นเงิน 1,600 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 6 ล้านบาทต่อรายยังมีคำถามว่าจะพอหรือไม่ เพราะเวลานี้ผู้ประกอบการเจอ 3 แพง ที่ไม่เคยเจอในประวัติศาสตร์ โดยแพงอันที่ 1 ค่าเรือแพง โดยที่ต้องส่งออกรวมค่าระวางเรือไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งแนะนำว่าในช่วงนี้ หากเป็นไปได้ให้ขายแบบ FOB (ผู้นำเข้ารับผิดชอบค่าขนส่งถึงปลายทาง) เพราะดูแล้วค่าระวางเรือยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่องจนถึงปีหน้าแน่นอน หลังตรุษจีนปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร
แพงที่ 2 วัตถุดิบแพง ผลจากราคาปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปัจจุบันเฉลี่ย 70-73 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องสูงขึ้น และแพงที่ 3 ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเจอคือ แพงในเรื่องการรักษาตัวรอดในโรงงานอุตสากรรม เพราะมีภาระต้องจ่ายค่าระวังภัยเพื่อป้องกันไมให้โรคระบาด(โควิด-19) ในโรงงานเพิ่มขึ้น ทั้งวัคซีน ค่าตรวจ ATK เป็นต้น เพราะฉะนั้นแนะนำว่าเงิน 6 ล้านบาทที่ได้รับจากโครงการจับคู่กู้เงินต้องบริหารดี ๆ ว่าจะแบ่งใช้ส่วนไหน อย่างไร เช่น เพิ่มทักษะบุคลากร การปรับปรุงโรงงานให้ตรงตามมาตรฐานต่างประเทศ รวมถึงในเรื่องของการป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด รวมถึงการขยายตลาดที่ปัจจุบันต้องมีทั้งออฟไลน์ และออนไลน์
“สรุปคือเงินกู้ที่ได้รับมาถือว่าสำคัญแต่เรื่องของการบริหารเงินสำคัญกว่าที่จะทำอย่างไรที่จะต่อยอดเงินขึ้นไปได้ อย่างไรก็ดีปัจจุบันความเสี่ยงในการชำระเงินของลูกค้ามีสูงมาก เพราะฉะนั้นถ้าอยากนอนหลับฝันดี รับเงินสดก่อน หรือรับเงินโอนก่อนส่งมอบ หรือให้ลูกค้าเปิดเป็นแอล/ซี หรือในเรื่องประกันการส่งออกโดยเอ็กซิมแบงก์ เพื่อเป็นหลักประกัน ทั้งหมดถือเป็นเรื่องที่สำคัญ”