นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ว่า การส่งออกข้าวไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ที่ขยายตัว 7.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดหลักที่ไทยส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ แอฟริกาใต้ จีน เยเมน และอิรัก และชนิดข้าวที่ส่งออกเป็นบวก ได้แก่ ข้าวนึ่ง ข้าวขาว และข้าวกล้อง ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากสถิติการขอใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศในเดือนสิงหาคมที่มีปริมาณสูงถึง 831,260 ตัน ขยายตัว 133.13% และล่าสุดเดือนกันยายน (วันที่ 1 – 20 กันยายน) ปริมาณ 631,363 ตัน เพิ่มขึ้น 61.78% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2563 โดยตัวเลขการขอใบอนุญาตส่งออกข้าวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงคำสั่งซื้อจากลูกค้าในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น คาดว่าในปีนี้ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าที่ปริมาณ 6 ล้านตัน
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ข้าวไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นมาจากราคาข้าวไทยที่ปรับตัวมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาข้าวจากประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามและอินเดีย โดยเฉพาะข้าวขาวและข้าวนึ่ง โดยราคาข้าวไทยที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากผลผลิตข้าวปีการผลิต 2564/65 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 4.97% และเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากประมาณ 29 – 30 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ประมาณ 32 – 33 บาท ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ทำให้ช่องว่างระหว่างราคาข้าวไทยกับข้าวจากประเทศคู่แข่งลดลงและสามารถแข่งขันได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามกรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการตลาดต่างประเทศ ได้เร่งดำเนินการภายใต้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งเป็นนโยบายการส่งเสริมตลาดข้าวไทย ได้ร่วมกับทูตพาณิชย์ในฐานะเซลส์แมนประเทศเร่งการเจรจาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยกับคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับรูปแบบการทำงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการนัดประชุมหารือกับคู่ค้าสำคัญผ่านระบบ Video conference
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาได้หารือกับคู่ค้า เช่น ผู้นำเข้าข้าวฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง อิรัก เป็นต้น ซึ่งจากการหารือดังกล่าวทำให้ได้รับทราบถึงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น โดยผู้นำเข้าข้าวให้ความเห็นว่า นอกจากปัจจัยด้านราคาที่ข้าวไทยปรับตัวอยู่ในระดับที่แข่งขันได้มากขึ้นแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการนำเข้าข้าวไทย ได้แก่ คุณภาพและมาตรฐานข้าวไทยที่เหนือกว่าคู่แข่ง รวมทั้งศักยภาพของผู้ส่งออกข้าวไทยที่สามารถส่งข้าวคุณภาพดีให้ลูกค้าได้แม้ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้นำเข้ามีความเชื่อมั่นในการนำเข้าข้าวจากไทยมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
“กรม ยังมีแผนการจัดประชุมหารือกับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย บังกลาเทศ จีน เป็นต้น รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ข้าวไทยภายใต้แนวคิด Think Rice Think Thailand ผ่านช่องทางออนไลน์และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และขอให้ทูตพาณิชย์ในฐานะทีมเซลส์แมนประเทศใช้แนวคิดดังกล่าวในการประชาสัมพันธ์ข้าวไทย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลกต่อไป”