นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.ย.2564 เท่ากับ 101.21 เทียบกับเดือนส.ค.2564 เพิ่มขึ้น 1.59% เทียบกับก.ย.2563 เพิ่มขึ้น 1.68% เป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากหดตัวในเดือนที่ผ่านมา ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) เพิ่มขึ้น 0.83% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.59 เพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.2564 และเพิ่มขึ้น 0.19% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2563 และเฉลี่ย 9 เดือน เพิ่มขึ้น 0.23%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนก.ย.2564 กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการสิ้นสุดลงของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ที่สิ้นสุดตั้งแต่เดือนส.ค.2564 และระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงยังสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงถึง 32.44% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเงินเฟ้อในเดือนนี้ ส่วนปัจจัยที่ทอนเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นมาก เป็นผลจากสินค้าเคลื่อนไหวเป็นปกติและค่อนข้างทรงตัว แม้กลุ่มอาหารสดจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่ค่อนข้างผันผวน แต่ส่วนใหญ่ยังมีราคาต่ำกว่าปีก่อน โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด ผักสดและผลไม้สด ยกเว้นไข่ไก่ที่ยังมีราคาสูงกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก รวมถึงเครื่องประกอบอาหาร
สำหรับเดือนก.ย.2564 มีสินค้าที่ปรับขึ้นราคา 183 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เม็ดพลาสติก ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลปาล์มสด น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย เหล็กแผ่น เหล็กเส้น และเหล็กฉาก เป็นต้น สินค้าลดลง 92 รายการ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาร สุกร ไก่ ผัก ผลไม้ มะพร้าวผล ทองคำ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และไม่เปลี่ยนแปลง 226 รายการ
ทั้งนี้แนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หากไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ที่ลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา แต่ยังอุดหนุนน้ำมันดีเซล แต่เบนซินไม่มีมาตรการ และมีการผ่อนคลายกิจกรรมจากโควิด-19 ที่จะทำให้การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจะกลับมา มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเป็นระยะ ๆ บวกกับการอ่อนค่าของเงินบาท ที่กระทบต้นทุนนำเข้าน้ำมัน การผลิต และอาหารสดที่มีความผันผวน เช่น ข้าว ที่ยังต่ำกว่าปีที่แล้ว ผักและผลไม้ ที่มีความผันผวน รวมปัจจัยทั้งหมดนี้ จะทำให้เงินเฟ้อไตรมาส 4 ขยายตัวอยู่ในช่วง 1.4-1.8% ถือว่าค่อนข้างสูง ตลอดทั้ง 3 เดือนที่เหลือ
“สนค.ได้ปรับประมาณการเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2564 ใหม่ จากเดิมคาดการณ์ 0.7-1.2% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ปรับเป็น 1% บวกลบ 0.2% หรืออยู่ระหว่าง 0.8-1.2% โดยมีสมมติฐานจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 0.7-1.2% ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ย 65-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.5-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แม้ว่าเงินบาทขณะนี้เริ่มอ่อนค่าลง แต่เฉลี่ย 9 เดือนที่ผ่านมา ยังแข็งค่ากว่าปีที่แล้ว”