วิกฤติพลังงาน ขาดแคลนถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของจีนที่เป็น “โรงงานของโลก” กำลังส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ จากผลพวงหลายปัจจัยรวมกัน ได้แก่ จีนแบนการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลีย (สัดส่วน 26% ของการนำเข้า) จากมีข้อพิพาทระหว่างกัน จากการลดลงของอุปทานถ่านหินในจีน และลดการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า และหันไปใช้พลังงานทดแทนอื่น ๆ เพื่อลดโลกร้อน
ขณะที่การเพิ่มขึ้นของราคาถ่านหินกว่าเท่าตัวในช่วงที่ผ่านมา (ราคาถ่านหินก่อนโควิดจาก 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ปัจจุบัน 240 ดอลลาร์ต่อตัน) ทำให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าในจีนเพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่ราคาไฟฟ้าของผู้ผลิตในจีนถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง ทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาการขาดทุน และการปรับลดกำลังการผลิตลง ยังผลกระทบต่อโรงงานผลิตสินค้าของจีนไฟฟ้าไม่พอใช้ และต้องปรับลดกำลังผลิตลงตาม ขณะที่อีกด้านการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของจีน และทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น
ผลกระทบลามถึงไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย แน่นอนว่าวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้นในจีนที่ส่งผลกระทบต่อโรงงานผู้ผลิตสินค้าของจีนในเวลานี้ ย่อมส่งผลกระทบถึงไทยที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ของจีนด้วย
ทั้งนี้การลดกำลังการผลิต หรือการหยุดชะงักของโรงงานผลิตสินค้าในจีนจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากไทยลดลง อาทิ ยางพารา ไม้ยางพารา มันสำปะหลัง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น เพื่อนำไปผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกต่อ ขณะเดียวกันสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จีนปรับลดการผลิตลงจะส่งผลกระทบสินค้าในตลาดโลก เช่น สินค้าที่จีนส่งออกไปยุโรป หรืออเมริกา จะเริ่มขาดตลาด
“นอกจากนี้จากวิกฤติขาด แคลนพลังงาน และต้นทุนการผลิตในจีนสูงขึ้น ประกอบกับเวลานี้เงินบาทอ่อนค่า (ระดับ 33 บาท) และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในเวลานี้ ทำให้สินค้านำเข้าหลักของไทยจากจีนปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตรวมถึงสินค้าที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่กำลังจะเปิดประเทศ กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น”
จีดีพีจีนวูบ 0.5% เรื่องใหญ่
อย่างไรก็ตามวิกฤติพลังงานในจีนล่าสุดโกลด์แมน แซกส์ได้ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี) จีนจาก 8.2% ลงเหลือ 7.8% ขณะที่โนมูระ ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวจาก 8.2% เหลือ 7.7% หรือลดลง 0.4-0.5% ซึ่งการปรับลดลงของจีพีดีจีน 0.4-0.5%นี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเทียบแล้วระดับจีดีพีที่ลดลงอาจใหญ่พอ ๆ กับงบประมาณของประเทศไทย ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาขาดแคลนพลังงานในจีนล่าสุดรัฐบาลได้ให้ธนาคารปล่อยกู้ให้โรงไฟฟ้าเพื่อจัดซื้อถ่านหินเพิ่มอีก 100 ล้านตัน คงต้องจับตาหากจีนสามารถนำเข้าถ่านหินเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้เร็วและเป็นปัญหาชั่วคราวก็อาจจะไม่กระทบเศรษฐกิจมาก แต่หากปัญหาทอดยาวออกไปถึงสิ้นปีนี้จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงไทยเพิ่มขึ้น
เปิดโผสินค้าไทยได้-เสีย
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัจจุบันจีนใช้พลังงานจากถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนถึง 72% พลังงานน้ำจากเขื่อน 14% พลังงานลม 7% พลังงานนิวเคลียร์ 5% และพลังงานแสงอาทิตย์ 2% การปรับขึ้นของราคาถ่านหินจึงมีผลกระทบมาก ต้องจับตาช่วงหน้าหนาวนี้ราคาถ่านหินจะปรับขึ้นไปอีกเท่าใด และจะส่งผลกระทบกับการผลิตไฟฟ้า และการผลิตสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรมในจีนมากขึ้นเพียงใด
สำหรับผลกระทบจากวิกฤติพลังงานในจีนครั้งนี้ต่อสินค้าไทยแบ่งออกเป็น 2 กรณี กรณีแรก การปรับลดกำลังผลิตของโรงงานผลิตในจีนจะกระทบสินค้าวัตถุดิบที่จีนนำเข้าจากไทยลดลง เช่น ยางพารา ไม้ยางพาราชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น กรณีที่ 2 สินค้าไทยที่เป็นคู่แข่งขันกับสินค้าจีนในประเทศที่ 3 อาจได้รับอานิสงส์ส่งออกทดแทนสินค้าจีนที่ขาดแคลนได้เพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และตลาดอื่นๆ เช่น กลุ่มอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ล้อยางรถยนต์ (ส่วนหนึ่งผู้ผลิตยางล้อรถยนต์รายใหญ่ของจีนมาตั้งฐานผลิตในไทยส่งออก)
“ภาพผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบจากวิกฤติพลังงานในจีนจะเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าสถานการณ์จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการของไทยต้องเตรียมรับมือ เพราะจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลกระทบทั้งด้านลบและด้านบวกต่อการนำเข้าและส่งออกของไทย”
คาดลากยาวถึงมี.ค.65
ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้า ไทยในจีน ประเมินว่า ปัญหาวิกฤติพลังงานจะเกิดขึ้นกับโรงงานผลิตสินค้าในจีนยาวไปจนถึงเดือนมีนาคม 2565 ผลจากรัฐวิสาหกิจด้านการไฟฟ้าของจีนต้องเร่งเตรียมสต๊อกถ่านหินและพลังงานอื่นให้เพียงพอต่อการผลิต “ความร้อน” ที่จะส่งผ่านตามท่อไปยังอาคารบ้านเรือนที่อยู่ทางตอนเหนือของจีนเพื่อต่อสู้กับความหนาวที่จะมาเยือนถึงช่วงวันที่ 15 พ.ย.64-15 มี.ค.65 ขณะที่ปักกิ่งและเมืองบริวารเตรียมเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในช่วงเดือน ก.พ. 65 ทำให้ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3723 วันที่ 17-20 ตุลาคม 2564