เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2564 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๕)
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นคราวที่ ๑๔ จนถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น
เพื่อเป็นการปรับปรุงและผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรคต่าง ๆ ที่ได้กําหนดขึ้น ให้สอดคล้องกับภาพรวมของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศ ที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก
ด้วยที่ผ่านมา การปฏิบัติงานพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมและจํากัดขอบเขตพื้นที่การระบาดของโรคได้ ดังเช่น ในหลายจังหวัดพบผู้ติดเชื้อเฉพาะในบางเขตพื้นที่เท่านั้น และผู้ป่วยที่มีอาการของโรครุนแรง ได้ลดจํานวนลง ในขณะที่ผู้ที่ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีจํานวนเพิ่มสูงขึ้น
ในส่วนของการดําเนินการ ตามแผนการฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนต่างมีส่วนร่วมในการประสาน จัดหาและนําเข้าวัคซีน ชนิดต่าง ๆ เพื่อให้ฝ่ายสาธารณสุขได้จัดสรรและเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งห้วงเวลา ที่ผ่านมาได้เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาเพื่อให้สามารถกลับมาสู่สภาพ การเรียนการสอนตามปกติได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ รัฐบาลได้เตรียมจัดหายาต้านไวรัส ที่มีประสิทธิภาพซึ่งคาดว่าจะสามารถนํามาใช้เพื่อรักษาโรคนี้ได้ในไม่ช้า อย่างไรก็ดี การติดตามและ กํากับดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ยังคงมีความสําคัญและจําเป็นอย่างยิ่ง เพื่อควบคุมให้การดําเนินกิจการ และกิจกรรมของทั้งบุคคลและสถานที่ต่าง ๆ อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและ ป้องกันโรคที่ได้ประกาศไว้แล้ว เช่น มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล มาตรการปลอดภัย สําหรับองค์กร หรือมาตรการควบคุมโรคแนวใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ก็เพื่อขับเคลื่อน ภาคเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการสร้างบรรยากาศ การเข้าใจสถานการณ์ และการรู้จักใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ให้ได้ เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ให้ใกล้กับภาวะปกติและกระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการดําเนินมาตรการ ด้านสาธารณสุขเพื่อมุ่งเป้าหมายสู่การป้องกันและควบคุมโรคแก่ประชาชนอย่างสมดุลและยั่งยืน สอดคล้องกับแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์และ แนวทางไว้เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๕ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคําแนะนําของศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ ให้ ศบค. มีคําสั่งปรับปรุง เขตพื้นที่จังหวัดจําแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคําสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับ สถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยให้นํามาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กําหนดไว้สําหรับ พื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับข้อกําหนดนี้
สําหรับจังหวัดที่ได้ปรับระดับเขตพื้นที่สถานการณ์ขึ้นใหม่ตามคําสั่งที่ออกตามข้อกําหนดนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และ ประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมเพื่อการดําเนินการตามมาตรการ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติต่าง ๆ เป็นการล่วงหน้า
ข้อ ๒ ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยกําหนดปรับปรุงเฉพาะเรื่อง จํานวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มเพื่อทํากิจกรรมจําแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้
(๑) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มี จํานวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน
(๒) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกัน มากกว่าหนึ่งร้อยคน
(๓) พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกัน มากกว่าสองร้อยคน
(๔) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกัน มากกว่าสามร้อยคน
(๕) พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกัน มากกว่าห้าร้อยคน
โดยให้ข้อห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ขั้นตอนการขออนุญาตจัดกิจกรรม การพิจารณาอนุญาต รวมทั้งกิจกรรมหรือการรวมกลุ่มที่ได้รับยกเว้นที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ตามข้อ ๔ และข้อ ๕ แห่งข้อกําหนด (ฉบับที่ ๓๐) ลงวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ยังคง บังคับใช้ต่อไป
ข้อ ๓ การปรับเวลาการห้ามออกนอกเคหสถานสําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๓.๐๐ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยให้ การกําหนดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่และกรณีของบุคคลที่ได้รับยกเว้นที่ได้ประกาศ หรือได้อนุญาตไว้ก่อนหน้านี้ยังคงใช้บังคับต่อไป
ข้อ ๔ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการสําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้บรรดา สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดําเนินการแล้วตามข้อกําหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า เปิดดําเนินการได้ต่อไป โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กํากับดูแลและติดตามการดําเนินการ และผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่ทางราชการกําหนด รวมทั้ง มาตรการที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกําหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ
(๑) เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเวลาการห้ามออกนอกเคหสถาน ให้สถานที่ กิจการ หรือ กิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดําเนินการได้แล้วและมีเงื่อนไขเรื่องกําหนดเวลาทําการไว้ เช่น ร้านจําหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ ห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา สวนสาธารณะ สามารถเปิดดําเนินการได้ตามเวลาปกติแต่ไม่เกินเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา
(๒) ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด หรือตลาดนัด สามารถเปิดเพื่อการจําหน่ายสินค้า ได้ทุกประเภทตามเวลาปกติจนถึงเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา และหากมีการเปิดให้บริการเครื่องเล่น ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ประเมินและพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม สําหรับร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดการให้บริการในช่วงระหว่างเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา ถึง ๑๓.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
(๓) ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สามารถเปิดให้บริการในลักษณะของการดูแลผู้สูงอายุแบบเช้าไป เย็นกลับได้ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม โดยกําหนดเงื่อนไขที่ผู้รับบริการและบุคลากร เจ้าหน้าที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกําหนด และให้ผู้ประกอบการสุ่มตรวจ บุคลากรเจ้าหน้าที่ทุกสัปดาห์โดยการใช้ชุดตรวจและน้ํายาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง เพื่อยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรค โควิด - 19 หรือโดยวิธีการที่ทางราชการกําหนด
(๔) โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ หรือสถานที่ที่มี ลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการเพื่อการจัดประชุม สัมมนา หรือการจัดงานพิธีตามประเพณีนิยม ได้จนถึงเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา
โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสําหรับองค์กรที่กําหนด เช่น การจํากัดจํานวนผู้เข้าร่วมงาน การให้ผู้เข้าร่วมงานสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา การจัดให้มีช่วงเวลาพักเพื่อการระบายอากาศของห้องประชุม การจัดเตรียมอาหารแบบแยกเป็นชุด การเว้นระยะห่างไม่ให้แออัด รวมทั้งดําเนินการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสํานักงาน ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กําหนดอย่างเคร่งครัด
(๕) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะ คล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการเพื่อการจัดประชุม สัมมนา หรือการจัดงานพิธีตามประเพณีนิยม ได้จนถึงเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา และให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสําหรับองค์กรที่กําหนดเช่นเดียวกับ กรณีตาม (๔) โดยยังคงให้งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และปิดให้บริการในส่วนที่เป็นร้านเกม ตู้เกม เครื่องเล่น สวนสนุก และสวนน้ํา
ข้อ ๕ การขนส่งสาธารณะ การขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะระหว่างจังหวัดทุกประเภททั่วราชอาณาจักรให้ผ่อนคลายมาตรการ จํากัดจํานวนผู้โดยสารที่ใช้บริการตามที่ได้เคยประกาศไว้เดิมในข้อ ๗ แห่งข้อกําหนด (ฉบับที่ ๓๒) ลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบต้องปฏิบัติตามมาตรการ ด้านสาธารณสุขตามที่ทางราชการกําหนดและสอดคล้องกับความเหมาะสมของยานพาหนะและสภาพ
การเดินทางให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร จังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกํากับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งการขนส่งสาธารณะระหว่างจังหวัดทุกประเภททั่วราชอาณาจักรให้เป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) กําหนด โดยจัดการให้การขนส่งสาธารณะ แก่ประชาชนมีจํานวนเพียงพอและเหมาะสมแก่การให้บริการประชาชน
ข้อ ๖ การปฏิบัติงานนอกสถานที่ทําการของหน่วยงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและเอกชนยังคงให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบปฏิบัติงาน นอกสถานที่ทําการอย่างเต็มความสามารถที่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติได้ โดยการปฏิบัติงาน ดังกล่าวต้องไม่กระทบกับภารกิจเพื่อการให้บริการประชาชน
ข้อ ๗ การผ่อนคลายมาตรการเพื่อกิจการหรือการดําเนินกิจกรรมบางประเภท
(๑) ร้านเกม ตู้เกม หรือเครื่องเล่น ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่มิได้อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้สามารถเปิดดําเนินการได้ในลักษณะของเกมหรือเครื่องเล่นเฉพาะที่มีผู้เล่นเป็นผู้ใช้เครื่องเล่นเดี่ยวหรือ การเล่นเป็นคู่เท่านั้น โดยให้ผู้เล่นสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา แต่สวนสนุกและสวนน้ํา ยังคงให้ปิดดําเนินการ
(๒) การปรับเงื่อนไขกําหนดเวลาการให้บริการของสวนสาธารณะ สนามกีฬา ยิม ฟิตเนส หรือสถานที่เพื่อการออกกําลังกายทุกประเภท ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้สามารถเปิดดําเนินการได้ ตามเวลาปกติแต่ไม่เกินเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา
ข้อ ๔ การเตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายมาตรการสําหรับกิจการบางประเภท ในอนาคต สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังคงให้ปิดดําเนินการทั่วราชอาณาจักรในช่วงเวลานี้
ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานประกอบการควรเตรียมความพร้อมในการปรับปรุง สภาพแวดล้อม การจัดการสถานที่และบุคลากรเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่หรือติดโรค เช่น การจัดสถานที่ให้อากาศสามารถหมุนเวียนถ่ายเทได้ดีหรือมีระบบฟอกอากาศ การให้พนักงาน ผู้ให้บริการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกําหนด รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรการ คําแนะนํา และแนวปฏิบัติของทางราชการ
ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดําเนินการเพื่อเตรียมพร้อมในการกํากับดูแลให้สถานประกอบการดําเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่ได้กําหนดไว้ เพื่อการผ่อนคลายให้สามารถเปิดดําเนินการได้ในอนาคตตามความพร้อมและ ความเหมาะสม รวมทั้งเป็นไปตามแผนและกรอบเวลาที่รัฐบาลกําหนด
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
คลิกอ่าน: ราชกิจจานุเบกษาประกาศคลายล็อกดาวน์กิจกรรม-เคอร์ฟิว