"โครงการประกันรายได้ข้าว" ปี 3 ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 กรอบวงเงินจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาข้าวทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการประกันรายได้เกษตรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 รอบที่ 1 โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต2564/65 และโครงการคู่ขนาน 3 โครงการ
ประกอบด้วย 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65 และ 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกปีการผลิต 2564/65 กรอบวงเงินรวม 18,000 ล้านบาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอนั้น ได้มีการเคาะจ่ายชดเชยราคาข้าว 5 ชนิดให้กับชาวนา 3 งวดแล้ว แต่ล่าสุดอธิบดีกรมการค้าภายใน แจ้งว่าเห็นชอบแล้วในงวดที่ 1 ส่วนงวดที่ 2 และที่ 3 จะเคาะราคาใหม่ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้
แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ชาวนาขายข้าวเปลือกได้จริง ณ เวลานี้ ข้าวเกี่ยวสดความชื้น 28-30% อยู่ในราคาที่ค่อนข้างต่ำกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากการส่งออกข้าวมีปัญหาทั้งผลกระทบจากโควิดทำให้เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้นพอ ๆ กับราคาข้าว
บางช่วงสูงกว่าราคาข้าวก็มี เมื่อรวมทั้ง 2 ปัจจัยแล้ว ทำให้ราคาข้าวส่งออกของไทยใกล้เคียงกับอดีต ทำให้คู่ค้าหันไปซื้อคู่แข่งแทน เมื่อขายได้น้อยโรงสีและส่งออกก็มีสต๊อก ไม่มีเงินหมุนเวียนมาซื้อข้าวใหม่ ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำลง จึงเป็นที่มาหลังจากการเคาะราคาประกัน 3 งวดแรกมีเสียงความไม่พอใจของชาวนาทั้งประเทศเมื่อเปิดตัวเลขออกมา
“สูตรของการคำนวณประกันรายได้ข้าวไม่ต่างจาก 2 ปีที่แล้ว คือ ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คำนวณจากราคาข้าวชนิดต่าง ๆ ย้อนหลัง 7 วันทำการ ความชื้นไม่เกิน 15% จะมีการนำราคาข้าวสาร ราคาข้าวเปลือก จากกรมการค้าภายใน และราคาจากสมาคมโรงสีข้าวไทยทั้ง 3 ส่วน มาเฉลี่ยกันในราคาความชื้นไม่เกิน 15% จากนั้นเมื่อได้ตัวเลขมาแล้ว จะนำตัวเลขดังกล่าวมาตัดทอนในราคาความชื้น 28-30% ที่เกษตรกรนำข้าวไปขายให้โรงสี หรือลานข้าว ซึ่งตัวนี้จะเป็นตัวที่จะไปคิดคำนวณราคาชดเชยในแต่ละชนิดข้าว นำมาลบที่รัฐบาลให้ตามราคาประกันรายได้ โดยจะจ่ายผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใน 3 วันทำการ หลังจากเคาะราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง”
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ตามมติประชุมนัดแรก นัดเคาะราคาทีเดียว 3 งวด รวมทั้งสิ้นใช้เงินกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท โดยงวดที่ 1 ประกันรายได้ข้าว สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2564 วงเงิน 10,919.80 ล้านบาท มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกว่า 4.9 แสนคน ยังไม่มีชาวนาข้าวหอมมะลิ ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ปลูกข้าวเจ้าสูงสุด 4.19 แสนราย รองลงมาชาวนาปลูกข้าวเหนียวกว่า 5.6 หมื่นราย
ส่วนงวดที่ 2 (เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 15-21 ตุลาคม 2564) มีชาวนากว่า 1.2 แสนคน ใช้เงิน 1,667.95 ล้านบาท ซึ่งในรอบนี้เริ่มมีชาวนาข้าวหอมมะลิ /หอมมะลินอกพื้นที่ แจ้งเก็บเกี่ยวมาแล้วกว่า 2 หมื่นราย ในรอบนี้ ชาวนาข้าวเหนียว แจ้งเกี่ยวข้าวลำดับสูงสุด รองลงมาเป็นชาวนาข้าวเปลือกเจ้า
ส่วนงวดที่ 3 (เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 22-28 ตุลาคม 2564) ใช้เงิน 1,273.26 ล้านบาท ชาวนาข้าวเหนียว แจ้งเก็บเกี่ยวสูงสุดอันดับแรก รองมา เป็นข้าวเปลือกเจ้า และข้าวหอมมะลิ ซึ่งในรอบนี้มีชาวนาเข้าร่วมกว่า 9.4 หมื่นราย
“สำหรับงวดที่ 2 และงวดที่ 3 การชดเชยส่วนต่างราคา(กราฟิกประกอบ) ถือว่าเหมาะสมแล้วไม่ควรดึงไว้ ส่วนวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ควรจะเคาะเป็นงวดที่ 4 เพราะดึงไว้ก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าจะเพิ่มเติมราคาให้อย่างมากก็แค่หลักสิบในการชดเชยประกันรายได้”
ขณะที่นายวิชัย ชิตยวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย ในคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว กล่าวว่าในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯในวันนั้น (29 ต.ค.64) ได้คัดค้านแล้วไม่เห็นด้วยกับการชดเชยราคาข้าวต่ำเกินไป โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ควรที่จะได้มากกว่านี้ เมื่องวด 1 คัดค้านไม่สำเร็จ แต่เมื่อมีเสียงชาวนาทั้งประเทศไม่พอใจ จึงเป็นเหตุให้มีการพิจารณาใหม่ของงวดที่ 2 และ 3
เช่นเดียวกับ นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ในการเคาะประกันราคาใหม่ ขอให้ได้ราคาเพิ่มอีกนิด เพราะช่วงนี้ชาวนาต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วม ค่าปุ๋ยยาแพงมาก ก็หวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจและเห็นใจ ขอราคาที่เป็นธรรม
แหล่งข่าวจากชาวนา กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบโครงการประกันรายได้ข้าวปีที่แล้ว ขายข้าวเปลือกเจ้าได้ 1 หมื่นบาทต่อตัน ส่วนต่างได้ 1,000 บาทต่อตัน ปีนี้ขายข้าวได้ 8,000 บาทต่อตัน ได้ชดเชยส่วนต่าง 1,600 บาทต่อตัน ส่วนความชื้น 15% มองว่าเป็นเกณฑ์ที่ภาครัฐตั้งไว้ให้ผู้ค้าเอาเปรียบชาวนา เพราะถ้าชาวนาขายข้าวความชื้นต่ำกว่า 15% ก็ติว่าข้าวแห้งเกินข้าวสีไม่เป็นเมล็ด ทำให้เมล็ดหักก็ไม่ได้ราคาเพิ่ม
“ปัญหาอีกด้านผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของข้าวแต่ละชนิดไม่สอดคล้องกับความจริง อาทิ ข้าวเปลือกเจ้า ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ให้แค่ 600 กิโลกรัมต่ำเกินไป เพราะหากได้ผลผลิตต่ำกว่านี้ไม่ควรจะปลูกแล้ว ไม่คุ้มต้นทุน ”แหล่งข่าว กล่าว
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,728 วันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2564