ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ครั้งที่ 2/2565 ร่วมกับหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขว่า การประชุมในวันนี้มีประเด็นสำคัญ คือ การสร้างความเข้าใจและเฝ้าระวังผลกระทบการใช้กัญชาทั้งในระยะสั้นและระยาว การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วยระยะท้ายและผู้ป่วยมะเร็ง แนวทางการส่งออกกัญชา การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์เทอร์ปีนในกัญชา การกำหนดราคาอ้างอิงของกัญชา และการพัฒนา Plant Based Products จากกัญชง
“เบื้องต้นในปี 2565 เราจะจัดประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการพัฒนางานและวิชาการกัญชาไทย รวมทั้งสร้างการรับรู้ในตลาดกัญชาโลก สำหรับการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเราดำเนินการต่อเนื่องมาปีกว่า เห็นพัฒนาการชัดเจนว่า มีการเดินหน้าจากการแพทย์มาเป็นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว บนความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ต้องขอขอบคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้ ที่ช่วยการผลักดัน และพยายามทะลุทะลวงทุกข้อจำกัด เพื่อเป้าหมายให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ”
ขณะเดียวกันการผลักดันกัญชานั้นต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสังคมไทย ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศที่ทำกัญชาให้ถูกกฎหมายก่อนหน้านี้ คือ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน ดังนั้นสธ.จึงต้องมีทีมสร้างการรับรู้และตอบสนองต่อข่าวสารของกัญชา โดยมีกรมสุขภาพจิตเป็นหัวเรือ คอยให้ข้อมูลการใช้ที่ถูกต้อง รวมถึงโอกาสทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่จะนำกัญชาไปใช้ จากการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดยังไม่พบปัญหาการใช้ที่ผิดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ต้องติดตามในระยะยาวด้วย ส่วนระบบข้อมูลข่าวสารที่หน่วยบริการ และภาคเอกชนสามารถเข้ามาดูเพื่อนำไปใช้งานได้นั้น เบื้องต้นแผนการจัดบริการสุขภาพ (service plan) สาขากัญชาทางการแพทย์ในปีนี้ได้กำหนดให้สถานพยาบาลเพิ่มการเข้าถึงยากัญชาของผู้ป่วยประคับประคองไม่น้อยกว่า 5% หากต้องการให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว เราต้องมีฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพให้สถานบริการใช้เพื่อติดตาม รวมทั้งภาคเอกชนสามารถเข้ามาดูข้อมูลเอาไปวางแผนธุรกิจได้ หลังจากประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลบังคับใช้ในอนาคต
“กระทรวงฯเน้นการสร้างตลาดกัญชาไทยจึงจัดระบบโครงสร้างพื้นฐานมารองรับในส่วนปลายทาง หรือความต้องการตลาด กัญชาไทยมีความน่าสนใจ เพราะคนไทยเราใช้กัญชามานาน สามารถสร้าง Cultural Identity ได้ แต่ต้องมีหลักฐานทางวิชาการมาสนับสนุนด้วย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็มานำเสนอวิธีการวิเคราะห์เทอร์ปีน ซึ่งเราจะทำในกัญชาไทยเพื่อสร้างความแตกต่าง และศึกษาต่อว่าเทอร์ปีนเหล่านี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพ”
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รายงานถึงแนวทางการส่งออก ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ ช่อดอก สารสกัด และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ในขณะที่องค์การเภสัชกรรม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและสถาบันกัญชาทางการแพทย์ก็ได้พัฒนาราคาอ้างอิงของดอกและส่วนต่างๆของกัญชา และสถาบันอาหารได้มานำเสนอแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก Plant Based Protients ที่กำลังเป็นที่นิยมของคนรักสุขภาพ ซึ่งตลาดอาจจะไม่ใหญ่ แต่มีแนวโน้มเติบโต เป็น Nich Market ที่คนพร้อมจะจ่ายซึ่งพวกเราเห็นตรงกันว่าถ้าเราทะลวงปลายน้ำได้จะช่วยเกษตรกรได้มากกว่าปลูกแล้วขายแน่นอน