ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางด้วยเครื่องบิน บ.ท.135 ของกองทัพบกจาก กองบิน 6 ดอนเมือง ไปยังสนามบินกองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี
เพื่อติดตามความก้าวหน้า การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) ที่วัดป่าเกสรศีลคุณ ประชุมรับฟังทิศทางแผนการเปิดเมืองอุดรธานี” UDON Plus Model” การเตรียมความพร้อมเปิดเมืองเตรียมอุดรธานีสู่ฮับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และช่วงบ่ายไปวังนาคินทร์คำชะโนด ดูความคึกคักจุดนำร่องเปิดเมืองฟื้นเศรษฐกิจพื้นที่
โดยเมื่อเดินทางมาถึงสนามบินกองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี จากนั้นคณะของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เดินทางไปยังวัดเกษรศีลคุณ หรือวัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมืองอุดรธานี เพื่อกราบนมัสการพระราชวชิรธรรมาจารย์ (หลวงพ่อสุธรรม สุธัมโม) เจ้าอาวาสวัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) และพระราชภาวนาวชิรากร (หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก) เจ้าอาวาสวัดอุดมมงคลวนาราม (วัดป่านาคำน้อย)
เพื่อติดตามตรวจความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) ซึ่งสร้างบนพื้นที่ 181 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา บริเวณด้านหน้าทางเข้าวัดป่าบ้านตาด อ.เมืองอุดรธานี เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่บรรจุอัฐิธาตุและเครื่องอัฐบริขาร ของหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
รวมทั้งยังเป็นสถานที่เผยแพร่ธรรมะ คำสอน เก็บรวบรวมประวัติหนังสือ คำสอนต่าง ๆ เพื่อระลึกถึงคุณูปการของพระธรรมวิสุทธิมงคล ในฐานะที่เป็น "ถูปารหบุคคล" (ถู-ปา-ระ-หะ-บุก-คน) คือ บุคคลผู้ควรแก่การสร้างสถูปเจดีย์ไว้บูชา ของพุทธศานิกชนทั่วไป ชาวจังหวัดอุดรธานี และยังเป็นครูบาอาจารย์ของพระสายวัดป่าที่มีจริยวัตรที่สวยงาม เป็นที่เคารพนับถือที่สำคัญยิ่ง
หลวงตามหาบัวเป็นผู้นำโครงการผ้าป่าช่วยชาติ ใช้ธรรมะช่วยแก้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อปี 2540 ซึ่งมีผู้มีจิตศรัทธาและพุทธศาสนิกชน ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ ร่วมโครงการผ้าช่วยชาติในครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก สามารถนำเอาทองคำแท่งเข้าสู่คลังหลวงได้กว่า 13 ตันเศษ เงินดอลล่าร์สหรัฐกว่า 10 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ให้ถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ และทำความดีเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ในฐานะองค์ประธานคณะผู้ออกแบบ และทีมงาน ได้วางผังกลุ่มอาคารตามคติความเชื่อแผนภูมิจักรวาล ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง ได้แก่ พระเจดีย์ พระวิหาร และพิพิธภัณฑ์ กำหนดวางองค์พระเจดีย์เป็นศูนย์กลางของกลุ่มงานสถาปัตยกรรมทั้งหมด โดยให้แกนของพระเจดีย์มุ่งสู่ศูนย์กลาง คือจิตกาธานองค์หลวงตาพระมหาบัวฯ
รวมทั้งรักษาแนวแกนการก่อสร้าง ไปในทิศทางเดียวกับแดนพุทธภูมิ คือ เมืองพาราณสี สาธารณรัฐอินเดีย เพื่อสื่อความหมายว่า ศาสนพิธีทั้งปวงที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ จะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นองค์ประธานร่วมรับรู้ในพิธีกรรมเหล่านั้นทุกครั้ง
อีกทั้งยังทำให้พุทธศาสนิกชนที่มากราบไหว้พระเจดีย์องค์หลวงตาพระมหาบัวฯ ได้กราบจิตกาธานองค์หลวงตาพระมหาบัวฯ พร้อมกับได้กราบพระบรมศาสดา ณ เมืองพาราณสี ในคราวเดียวกันด้วย
นอกจากนี้ลักษณะของพระเจดีย์ พระวิหาร และพิพิธภัณฑ์นั้น ได้รับแรงบันดาลใจสร้างสรรค์จากสถาปัตยกรรมศิลปะล้านช้าง ผสมผสานกับศิลปะยุคกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนาในถิ่นอีสาน ที่ยังคงดำรงอย่างมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองสืบมา
ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอ ชานายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจสอบถาม และใช้เวลาในการตรวจความก้าวหน้าพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง
จากนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางไปยังศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ ฮอลล์ อ.เมืองอุดรธานี ปรากฏว่าได้มีกลุ่มพลังมวลชนอาชีพต่าง ๆ เดินทางมาพร้อมป้ายเชียร์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประมาณ 5-600 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจและเดินไปทักทายอยู่ท่ามกลางกลุ่มพลังมวลชนที่อยู่รายลอบครู่หนึ่ง
จากนั้นได้เดินขึ้นห้องประชุม เพื่อประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนของจังหวัดอุดรธานี เลย หนองคาย และจังหวัดขอนแก่น ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี และแผนเปิดเมือง"อุดร พลัส โมเดล"
โดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี รายงานสรุปทิศทางการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี การเชื่อมโยงระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ ระหว่างจังหวัดอุดรธานี กับจังหวัดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) และการรายงานสรุปความเชื่อมโยง ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ ของจังหวัดอุดรธานีและอนุภาคลุ่มน้ำโขง โดย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรงคมนาคม
ในส่วนของภาคเอกชนของจังหวัดอุดรธานี มีนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำเสนอทิศทางการค้า การลงทุน จำนวน 7 ข้อใหญ่ ๆ และกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ในฐานะผู้แทนประชาชนชาวอุดรธานี ได้รับจากนโยบายของรัฐบาล
รวมทั้งรายงานนายกฯว่า การเปิดเดินรถไฟจีน-สปป.ลาวในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น คาดการณ์ว่าจะมีคนเดินทางเข้ามาไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านคนต่อปี จึงเป็นโอกาสทางการค้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้มุ่งเป้าหมายทางการค้าสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งสปป.ลาว เวียดนาม จีน และกัมพูชา
การเตรียมการเพื่อรองรับรถไฟความเร็วจากจีน-สปป.ลาว ต้องพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในด้านการคมนาคม โลจิสติกส์ ให้ภาคการค้า การบริการ การท่องเที่ยว โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ที่จังหวัดหนองคาย ได้สร้างโอกาสทางการแข่งขันให้กับจังหวัดอุดรธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย
1) การขยายผิวจราจรทางหลวง หมายเลข 2 อุดรธานี - หนองคาย
2) การขยายผิวจราจร ทางหลวงหมายเลข 216 ถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานี ทิศตะวันออก
3) การขยายถนน 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ถนนสายแยกทางหลวง หมายเลข 2 – พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์(หลวงตามหาบัว) อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี
4) เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น - อุดรธานี , อุดรธานี – หนองคาย
5) การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดอุดรธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเติบโตของนักเดินทางและนักท่องเที่ยว และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร หลังที่ สาม
6) Logistic Park ศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และโครงการท่าเรือบก (Inland Container Depot) จังหวัดอุดรธานี 7) พัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ให้สอดรับกับการแข่งขันในเวทีสากล
"โอกาสนี้ ในนามของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจังหวัดอุดรธานี ขอขอบคุณ ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ในการสร้างโอกาสและศักยภาพให้กับจังหวัดอุดรธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน การบริการ การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อสร้างงาน สร้างคน สร้างรายได้คุณภาพสูงให้กับประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม "นายสวาทกล่าวย้ำในตอนท้าย
ด้านนายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)อุดรธานี นำเสนอการเตรียมความพร้อมของจังหวัดอุดรธานี ในการเป็นเจ้าภาพการจัดมหกรรมพืชสวนโลก 2026 ( พ.ศ.2569) ภายใต้แนวคิด Harmony of Life : วิถีชีวิต สายนํ้า และพืชพรรณ กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวด้วยเทศกาลระดับนานาชาติ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต ผ่านการวิจัยและต่อยอดสู่โมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG สร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งรับฟังมุมมองนักธุรกิจรุ่นใหม่ในการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี
ต่อมาในช่วงบ่าย(1 ธ.ค.64) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะเดินทาง ลงพื้นที่ไปยังแหล่งท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ "วังนาคินทร์ คำชะโนด" อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็น 1 ใน 6 อำเภอนำร่องเปิดท่องเที่ยวภายใต้แผนเปิดเมือง UDON PLUS MODEL
เพื่อตรวจความพร้อมในการเปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ หลังได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ/บริการ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยด้านสาธารณสุข เช่น การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้าสักการะ นักท่องเที่ยวต้องลงทะเบียนทางออนไลน์ล่วงหน้า งดการวอล์คอิน เป็นต้น
นายพงษ์ศักดิ์ ศรีชนะ กำนันตำบลบ้านม่วงและรักษาการผู้จัดการคำชะโนด รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ถึงการดำเนินการของวังนาคินทร์ คำชะโนด ว่า หลังจากเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะเจ้าปู่ศรีสุทโธ และเจ้าย่าศรีปทุมมา ที่คำชะโนด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา
มีประชาชนให้ความสนใจลงทะเบียนวันประมาณ 1,000 คน สะสมตลอด 1 เดือนที่ผ่านมามีประชานมาใช้บริการทั้งสิ้น 62,518 คน มียอดบริจาครวม 2,181,972 บาท ภาพรวมเศรษฐกิจในพื้นที่เริ่มฟื้นตัว