เมื่อ 8 ธันวาคม 2564 นายนพสิทธิ์ อุดมสุวรรณกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อแนะนำโครงการ และรับฟังความคิดเห็น ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ของสำนัก งานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม
เนื่องจากช่องแคบมะละกามีความหนาแน่นสูง จากปริมาณเรือปีละ85,000 ลำ/ปี ใกล้เต็มความจุที่ 122,000 ลำต่อปี โดยคาดจะมีถึง128,000 ลำในอีก 10 ปี ทำให้เสียเวลามาก
โครงการนี้ (Land Bridge) เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การสังคม ของโครงการฯ เช่น ท่าเรือ รถไฟ ถนน เป็นต้น ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ตลอดจนออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น ประเมินผล กระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ วิเคราะห์การร่วมลงทุนของเอกชน และรูปแบบการลงทุน
โดยแนวคิดการพัฒนาสร้างท่าเรือชุมพร กำหนดให้เป็นท่าเรือนํ้าลึกที่ทันสมัย โดยนำระบบออโตเมชั่นมาใช้เพื่อ ยกระดับท่าเรือสู่ Smart Port ส่วนท่าเรือระนอง กำหนดให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์และเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน ไปเชื่อมโยงกับท่าเรือกลุ่มประเทศแถบเอเชียใต้ และบูรณาการ ร่วมกับการพัฒนามอเตอร์เวย์ และทางท่อ (MR-MAP) ไปพร้อมกันทีเดียว
นายพรศักดิ์ แก้วถาวร ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า หอการค้า ระนองและภาคเอกชนเห็นด้วย และพร้อมสนับสนุน โครงการแลนด์บริดจ์ ที่เป็นห่วง คือ ปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่จังหวัดระนอง และการที่พื้นที่โครงการก่อสร้างอาจติดเขตป่า รวมถึงใกล้กับโครงการมรดกโลก
ด้านนายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า อีกประเด็นคือความชัดเจนเรื่องเส้นแนวทางของระบบรางชุมพร-ระนอง จากที่บอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะอนุมัติจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ออกแบบรายละเอียดและทำรายงาน EIA ทางรถไฟสายใหม่ชุมพร-ระนอง ตามแนวสายทางที่สนข.ศึกษาไว้เมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นแนวคู่ขนานกับทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) เดิมเพื่อเชื่อมฐานการผลิตอีอีซี
แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นรองรับการขนส่งสินค้าข้าม 2 มหาสมุทร ตามโครงการแลนด์บริดจ์ เบื้องต้นจะปรับแก้ไขแนวเส้นทางรถไฟสายใหม่ชุมพร-ระนองใหม่ ที่จะเปลี่ยนมาเริ่มที่แหลมรั่ว ต.บางนํ้าจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ผ่าน อ.พะโต๊ะ ไปสิ้นสุดที่อ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง
การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ร่วมกับระบบราง (ทางรถไฟ) หรือ MR-MAP นั้นกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กำหนดไว้ 10 เส้นทาง ในส่วนของชุมพร-ระนอง อยู่ในเส้นทาง MR 8 เชื่อมต่อท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC รวมระยะทาง 94 กิโลเมตร
นอกจากแลนด์บริดจ์นประเทศแล้ว การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก(EWEC) ที่เชื่อมโยงระดับภูมิภาค ด้านตะวันตกของไทยคือที่อ. แม่สอด จ.ตาก เชื่อมเข้าเมียนมา และด้านตะวันออกที่มุกดาหาร หรือนครพนม เชื่อมสปป.ลาว ทะลุถึงเวียดนามนั้น หากเดินทางได้ตลอดเส้นทางก็สามารถเชื่อมท่าเรือฝั่งเวียดนามออกมหาสมุทรแปซิฟิก กับเมียนมาออกมหาสมุทรอินเดียได้
โดยแนวเส้นทาง MR4 ด่านแม่สอด-ด่านนครพนม ระยะทาง 840 กิโลเมตร เป็นโครงข่ายเพื่อการพัฒนาบนระเบียงเศรษฐกิจ EWEC เสริมโครงการคมนาคมหลากรูปแบบ ทั้งทางถนน (สี่เลน-มอเตอร์เวย์) ราง(ทางรถไฟสายใหม่นครสวรรค์-แม่สอด) ทางอากาศ (ท่าอากาศ ยานนานาชาติแม่สอด)
จะช่วยเพิ่มศักยภาพการค้า การลงทุน การเดินทางท่องเที่ยวทั้งภายในและระหว่างประเทศ จากด่านแม่สอด ที่เป็นประตูสู่อันดามัน ต่อเข้าไปยังอินเดีย จนถึงตะวันออกกลางและยุโรป และยังเป็นหน้าด่านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
6 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้จัดประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ (สัมมนาครั้งที่ 3) งานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงาน EIA โครงการนี้ พร้อมรับฟังความคิดเห็น กับจังหวัดแนวเส้นทางเป็นรอบสุดท้าย เพื่อดำเนินการขั้นตอนต่อไป
หน้า10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,739 วันที่ 11-15 ธันวาคม พ.ศ.2564