ช้อปดีมีคืน 2565 VS คนละครึ่งเฟส 4 เงื่อนไขต่างกันอย่างไร เลือกอันไหนดี

26 ธ.ค. 2564 | 20:03 น.

เช็คมาตรการ "ช้อปดีมีคืน 2565" VS "คนละครึ่งเฟส 4" เงื่อนไขแตกต่างกันอย่างไร ควรเลือกอันไหนดี รวบรวมและคำนวณให้แล้ว ตรวจดูเลยที่นี่

โครงการช้อปดีมีคืน 2565 และ คนละครึ่งเฟส 4  มาตรการที่รัฐบาลเตรียมนำมากระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและเศรษฐกิจไทยในปี 2565 โดยมาตรการช้อปดีมีคืน 2565 รัฐคาดจะช่วยทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 42,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีเพิ่มขึ้นราว 0.60% ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ทั่วไปเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ( VAT ) เพิ่มขึ้นอีกด้วย 

 

วัตถุประสงค์โครงการช้อปดีมีคืน 2565 

 

  • เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีและผู้ประกอบกิจการการผลิตสินค้าท้องถิ่น  

 

หลักเกณฑ์เงื่อนไขของผู้ใช้สิทธิช้อปดีมีคืน

 

  • กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรให้กับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)  
  • รวมถึงค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท 

 

ช้อปดีมีคืน 2565 เริ่มเมื่อไร 

 

  • โครงการช้อปดีมีคืน จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  - 15 กุมภาพันธ์ 2565 สามารถนำรายการที่ซื้อในช่วงดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีปี 2565 ได้ 

 

การลงทะเบียน

 

  • ไม่ต้องลงทะเบียน ใช้เพียงใบกำกับภาษีจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการ 
  • ใบเสร็จจากร้านค้า เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
     

 


 

โครงการคนละครึ่งเฟส 4

 

มาตรการคนละครึ่งเฟส 4 มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโดยจะเริ่มในเดือนมีนาคม - เมษายน 2565 ( คาดเริ่มวันที่ 1 มีนาคม 2565 ) 

 

เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

 

  • รัฐบาลสนับสนุน 50% โดยให้เป็นสิทธิคนละครึ่ง
  • รับสิทธิไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน ตลอดระยะเวลาโครงการ
  • ชำระเงินผ่านแอปฯเป๋าตัง กับร้านค้าที่ร่วมโครงการ
  • สามารถสั่ง อาหารและเครื่องดื่ม (เท่านั้น) ผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery Platform)
  • ไม่หักสิทธิ หากใช้ไม่หมดในแต่ละวัน
  • โดยระบบจะคืนสิทธิที่ไม่ได้ใช้เข้ายอดรวมของผู้ได้รับสิทธิ และจะคำนวณสิทธิใหม่ในเวลา 6.00 น. ของทุกวัน
  • ใช้ได้เวลา 06.00 - 23.00 น.
  • ไม่สามารถใช้สิทธิ คนละครึ่ง นอกเวลาดังกล่าวได้ 

 

ช้อปดีมีคืน VS คนละครึ่งเฟส 4 เหมาะกับใคร

 

 

ช้อปดีมีคืน 2565 VS คนละครึ่งเฟส 4  เงื่อนไขต่างกันอย่างไร เลือกอันไหนดี

 

 

จากเงื่อนไขดังกล่าวจะเห็นว่า มาตรการคนละครึ่งเฟส 4 เป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ไม่มีเรื่องของภาษีเงินได้เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี เหมาะกับผู้มีฐานรายได้สุทธิต่อปี ไม่เกิน 500,000 บาท หรือมีอัตราภาษีต่ำกว่า 10% (บนสมมติฐานว่า มาตรการคนละครึ่งเฟส 4 รัฐบาลช่วยจ่ายให้รายละ 3,000 บาท ) 

 

ขณะที่"ช้อปดีมีคืน" วัตถุประสงค์กระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ โดยให้ผู้ซื้อค่าสินค้าและค่าบริการสามารถนำรายจ่ายมาลดหย่อนได้สูงสุด 30,000 บาท ดังนั้นผู้ที่มีรายได้สุทธิต่อปี หรือฐานอัตราภาษียิ่งสูง จะยิิ่งได้สิทธิประโยชน์ เหมาะกับผู้มีเงินได้สุทธิต่อปีเกิน 500,000 บาท หรืออัตราภาษีตั้งแต่ 10% ขึ้นไป (บนสมมติฐานว่ามาตรการคนละครึ่งเฟส 4 รัฐบาลช่วยจ่ายให้รายละ 3,000 บาท) 


 

ช้อปปิ้งเต็มจำนวน 30,000 บาท ได้สิทธิคืนภาษีเท่าไร

 

  • เงินได้สุทธิต่อปี 0 - 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ได้สิทธิคืนภาษี
  • เงินได้สุทธิต่อปี 150,001 - 300,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 5% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 300,001 - 500,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 10% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 500,001 - 750,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 15% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 750,001 - 1,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 20% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001 - 2,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 25% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001- 5,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 30% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษีเงินได้ 35% มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท

 

ส่วนกรณีผู้ที่ซื้อสินค้าไม่ครบเต็มจำนวน 30,000 บาท ก็จะได้รับการลดหย่อนภาษีลดหลั่นกันไปตามจำนวนเงินที่ซื้อจริง และฐานอัตราภาษี เช่น นาย A มีรายได้สุทธิ 200,000 บาทต่อปี อยู่ในเกณฑ์อัตราภาษี 5% หากซื้อสินค้า 15,000 บาท จะมีสิทธิได้ลดหย่อนภาษีเท่ากับ 750 บาท เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดีคงต้องดูรายละเอียดทั้งมาตรการ "ช้อปดีคืน" และ"คนละครึ่งเฟส 4 " ซึ่งคาดว่ากระทรวงการคลัง จะประกาศเงื่อนไขรายละเอียดความชัดเจน ในเร็ว ๆ นี้.