นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนพฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 68 ราย เพิ่มขึ้น 19% จากเดือนตุลาคม 2564 (57 ราย) โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 24 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 44 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,002 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 720 คน
ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 727 ล้านบาท และหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 44 ราย เงินลงทุน 6,275 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 720 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
“การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการอัดฉีดซีเมนต์ขั้นสูง และความซับซ้อนของท่อซีเมนต์ในหลุมแท่นขุดเจาะน้ำมัน องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคและการปรับใช้เครื่องอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อการใช้งานร่วมกับเครื่องอัดประจุไฟฟ้า และองค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ การจัดเก็บ และการเปรียบเทียบวิเคราะห์เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขคุณภาพชิ้นงานแม่พิมพ์แบบสามมิติ”
รองลงมาเป็นธุรกิจการให้บริการแก่บริษัทในเครือในกลุ่ม ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน และธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่งสินค้าอุตสาหกรรม
ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนพฤศจิกายน 2564 นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ลงทุนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 44 ราย ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติยังคงสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 11 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดในเดือนนี้ และมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 538 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 ของเงินลงทุนทั้งหมด โดย 3 ลำดับแรกเป็นนักลงทุนจาก สิงคโปร์ 3 ราย ลงทุน 145 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 2 ราย ลงทุน 103 ล้านบาท และญี่ปุ่น 2 ราย ลงทุน 63 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ และบริการรับจ้างคัดแยกคุณภาพเพชรให้แก่ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายอัญมณีในต่างประเทศ เป็นต้น
โดย11เดือน(มกราคม – พฤศจิกายน)มี นักลงทุนต่างชาติได้รับอนุญาต 500 ราย เงินลงทุน 64,582 ล้านบาท ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ