นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย.) ปี 2564 มูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ หรือ FDI มีจำนวน 587 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 372,068 ล้านบาท โดยมูลค่าเพิ่มขึ้น 220% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประเทศที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 67,816 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 26,936 ล้านบาท และสิงคโปร์ 26,882 ล้านบาท
ขณะที่การลงทุนทั้งหมดมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงกว่าปี 2563 ทั้งปี (432,000 ล้านบาท) และสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดช่วงปี 2558 – 2562 (483,664 ล้านบาท)
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 269,730 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 52% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดอันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 77,210 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (covid-19) ที่เปลี่ยนกิจกรรมของคนทำงานในรูปแบบ WFH ทำให้มีความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น
อันดับ 2 อุตสาหกรรมการแพทย์ 59,210 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นการลงทุนต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ความต้องการสินค้าที่ใช้ในการป้องกันเชื้อโควิด เช่น ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นอย่างมาก อันดับ 3 ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 36,760 ล้านบาท อันดับ 4 การเกษตรและแปรรูปอาหาร 31,660 ล้านบาท และอันดับ 5 เทคโนโลยีชีวภาพ 20,950 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่เป้าหมายโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ EEC มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 348 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 173,780 ล้านบาท โดยจังหวัดระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 91,670 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 54,310 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุน 27,800 ล้านบาท
นอกจากนี้ การขอรับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ในช่วง 9 เดือนแรกมีจำนวน 134 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 14,806 ล้านบาท โดยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมีมูลค่าสูงสุด รองลงมาคือ การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการตื่นตัวเรื่องการใช้พลังงานทดแทน โครงการที่ขอสิทธิประโยชน์สำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนไว้ใช้เองได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประมาณการว่าโครงการเหล่านี้ที่ยื่นคำขอในปีจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรวมถึง 300 เมกกะวัตต์
“นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติยังคงให้ความสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อีกทั้งผู้ประกอบการมีความพร้อมเพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 สังเกตได้จากมีกิจการยื่นขอรับการส่งเสริมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้านเครื่องจักรด้วยการนำระบบอัตโนมัติมาใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 7,378 ล้านบาท หรือประมาณครึ่งหนึ่งของคำขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ"
อย่างไรก็ดี ล่าสุดบริษัท Western Digital ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอก็ได้รับคัดเลือกจาก World Economic Forum ให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ ได้รับรางวัลระดับนานาชาติด้านการใช้เทคโนโลยีในกลุ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4th Industrial Revolution) มาใช้ในโรงงาน ซึ่งนับเป็นโรงงานแห่งแรกของไทยที่ได้รับรางวัลนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยที่พร้อมขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างเต็มรูปแบบ