ปี 2564 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มีข่าวเด่นภาคเกษตร และการค้าของไทย ที่ถือเป็นสีสันและต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ เพราะหลายเรื่องหลายเหตุการณ์เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ บางเรื่องเป็นเหตุการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน บางเรื่องดำเนินมาถึงจุดจบ และบางเรื่องยังต้องติดตามต่อในปี 2565 ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” ประมวลมานำเสนอดังนี้
โครงการประกันรายได้เกษตรกรใน 5 พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ถือเป็น “พระเอกขี่ม้าข้าว” เข้ามาช่วยเกษตรกร 7.92 ล้านครัวเรือนให้มีหลักประกันด้านรายได้ โดยขายสินค้าได้ในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุน ช่วยให้อยู่ดีกินดีขึ้นถือเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้ใจเกษตรกรไปเกินร้อย ซึ่งหากคิดเฉลี่ยที่ครัวเรือนละ 4 คน นโยบายนี้จะดูแลเกษตรกรและครอบครัวได้ครอบคลุมถึง 31.68 ล้านคนโดยประมาณ
อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พืชเศรษฐกิจหลักของไทยถือเป็นปฐมเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 60% ของจีดีพีเป็น 70% ของจีดีพีเพื่อให้รัฐบาลมีกรอบวงเงินที่สามารถกู้มาจ่ายให้กับเกษตรกรได้เพิ่มขึ้น โดยโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวและมาตรการเพิ่มเติมนี้เป็นนโยบายผสมผสานของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ โดยนโยบาย “ประกันรายได้เกษตรกร” เป็นของพรรคประชาธิปัตย์
ส่วนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ “เงินช่วยเหลือชาวนา” ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 2 หมื่นบาท เป็นของ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่แข่งเอาใจเกษตรกรที่ถือเป็นฐานเสียงสำคัญ และยังเดินหน้าต่อไปเป็นปีที่ 3 ณ เวลานี้
ต้องยกนิ้วให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กล้าตัดสินใจให้ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) และกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) นายประพันธ์ บุณยเกียรติ เป็นประธานบอร์ด (ในขณะนั้น) ได้ตัดสินใจขายเหมาสต๊อกยางพาราให้กับ เอกชน
โดยพิจารณาประกาศและพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประมูลครั้งก่อนจำนวน 15 ราย ซึ่งมีผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น จำนวน 6 ราย แต่ปรากฏ มี บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นเสนอราคาซื้อเพียงรายเดียว ได้ในราคาคิดเป็นมูลค่า 3,877 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลกรัม (กก.) ละ 37.01 บาท
มีผลให้ฝ่ายค้าน ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.)ให้มีการตรวจสอบว่า เป็นการทุจริตเชิงนโยบายโดยใช้มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ร.บ.ฮั้วประมูล พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย หรือไม่ เพราะยางจำนวน 1.04 แสนตันที่ขายไป
เป็นยางที่ซื้อมาในโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันรักษาเสถียรภาพราคายางที่นำออกมาขายในช่วงที่ราคายางในประเทศมั่นคงแล้ว และนำออกมาขายในราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายในประเทศ มองว่าเอื้อประโยชน์แก่เอกชนเพียงรายเดียว และยังเรียกร้องให้ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ และนายเฉลิมชัย ในฐานะประธาน และ รองประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)
เรื่องดังกล่าวนายณกรณ์ ระบุว่า หากพิจารณาข้อกล่าวหา อาทิ ยางในราคาสภาพ 9 ปี ควรจะได้ขายในราคายางปัจจุบัน ข้อนี้ไม่สมเหตุสมผล ส่วนสต๊อกยาง ในองค์การยางระหว่างประเทศ หรือ INRO เคยเก็บยางนานถึง 17 ปียังไม่เสื่อมสภาพ ต้องเข้าใจว่า ยางที่หมุนกับ ยางเดทสต๊อก (date stock) คุณภาพแตกต่างกันอยู่แล้ว ถ้ายางเสื่อมเจ้าของโกดัง และเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ตรงนี้ไม่เห็นด้วย
เรื่องนี้ต้องจับตา จุดจบ “โละสต๊อกยางพารา” ลุ้น ป.ป.ช. ชี้ขาด จะพบจุดจบแบบจำนำข้าวหรือไม่
เป็นข่าวสุดช็อกทั้งประเทศ “จีนแบนลำไย” ไทย จากเพลี้ยแป้งเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ข่าวนี้แพร่สะพัดออกไปคนในวงการลำไยค่อนข้างวิตกกังวลมากถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น บางสวนถึงกับจะโค่นลำไยทิ้งกันเลยทีเดียว ฝ่ายไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ระดมทุกวิถีทางเพื่อทำให้ไทยได้ส่งออกเร็วที่สุดป้องกันไม่ให้สินค้าเสียหาย
ในช่วงนั้น นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ถึงกับเอ่ยปากว่าเหนื่อยมากทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อหาวิธีเจรจา จนในที่สุดสามารถทำให้ล้ง 56 ล้ง ที่มีปัญหาน้อยที่สุดส่งออกได้ปกติ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 โดยใช้เวลาเพียงแค่ 5 วันในการแก้ปัญหา
พิษโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทำให้ทุกประเทศตระหนักถึงความมั่นคงด้านอาหาร ที่ต้องมีหล่อเลี้ยงประเทศได้อย่างเพียงพอ มีส่งผลให้จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลกประกาศใช้มาตรการทางศุลกากร จำกัดโควตาในการส่งออกสินค้าปุ๋ย “ไนโตรเจน” และ “ฟอสเฟต” จนกว่าจะถึงเดือนมกราคมปี 2565
ส่งผลให้ราคาปุ๋ยส่งออกของจีนในตลาดโลก ณ วันที่ 16 ต.ค. 64 “ปุ๋ยยูเรีย” ปรับขึ้นอีก 47 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปอยู่ที่ระดับ 700 - 720 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (เอฟ.โอ.บี.) สูงสุดในรอบ 13 ปี ส่งผลให้เกษตรกรไม่เฉพาะเกษตรกรไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายอื่น ๆ ที่รัฐบาลต้องหาวิธีช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร อาทิ การขอความร่วมมือผู้ค้าช่วยลดราคาปุ๋ยให้กับเกษตรกร เป็นต้น ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวช็อกโลกในรอบปี
ฉาวโฉ่มาตั้งแต่ปลายปี 2563 กรณีการทุจริตจัดซื้อถุง มือยาง มูลค่า 112,500 ล้านบาท และการจ่ายเงินค่ามัดจำสินค้า 2,000 ล้านบาทให้กับ บริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัดที่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และพวกที่อาศัยช่องโหว่ อนุมัติจัดซื้อจัดจ้างถุงมือยาง
กลายเป็นเผือกร้อนให้กับ อคส. ต้องตั้งคณะกรรมการไต่ส่วนชุดของกระทรวงพาณิชย์ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และฝ่ายค้านได้หยิบยกเป็นประเด็นนำ การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ความคืบหน้าล่าสุด การสอบสวน อคส.ได้รายงานผลการสอบสวนทางวินัยชี้มูล 3 คน ประกอบด้วย พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ อคส. นายเกียรติขจร แซ่ไต่ และนายมูรธาธร คำบุศย์ มีความผิดทางวินัยร้ายแรง มีบทลงโทษคือการไล่ออก
ส่วนกรณีการรับผิดทางละเมิดนั้นคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิด จะมีผลพิจารณาออกมาเร็วๆ นี้ว่าใครจะต้องชดใช้ความเสียหายให้อคส. เท่าไรเบื้องต้นราว 2,000 ล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย และค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ
นอกจากนี้จากการสอบในเชิงลึก อคส. ยังพบว่ามีกลุ่มคนที่เข้าข่ายทุจริตเพิ่มเติม อีกเกือบ 10 คน ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับบริหาร ส่วนภาคเอกชนนั้นก็ไม่รอดเช่นกัน เพราะขณะนี้ ป.ป.ช. และปปง.อยู่ระหว่างชี้มูล ซึ่งเม็ดเงิน 2,000 ล้านบาท ที่อคส. เสียหายไปนั้น 2 หน่วยงานจะสืบในทางลึกว่าโยกย้ายไปที่ใดบ้าง และไปให้ใครบ้าง จะตามกลับมาชดใช้ให้หมด
การส่งออกไทยปี 2564 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่กำลังแพร่ระบาดยังไม่รวมปัจจัยเสี่ยงด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันแพง ต้นทุนการขนส่งพุ่ง ขาดแคลนตู้สินค้าส่งออก ค่าระวางเรือสูง แต่ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่ส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอลงแต่อย่างใด โดยภาพรวม 11 เดือนแรกปี 2564 การส่งออกมีมูลค่า 246,243 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 16.4% ทำให้กระทรวงพาณิชย์มั่นใจส่งออกไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ 15% ถือว่าสูงสุดในรอบ 12 ปี
ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การจ้างงานปรับตัวดีในระดับที่น่าพอใจ ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสหภาพยุโรปทำให้ภาคบริการฟื้นตัว ผลักดันให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตเร็วขึ้น อีกทั้งภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวดี
อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมร่วมกับภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) วันที่ 27 ธ.ค.2564 เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกในปี 2565 ซึ่งภาคเอกชนประเมินในเบื้องต้นจะขยายตัวได้ที่ 3-5% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ส่งออกปี 2564 จะขยายตัวได้ถึง 16% และปี 2565 ขยายตัวได้ 3-4%