ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลร้องรัฐ พบชาวไร่อ้อยส่งอ้อยสดเข้าหีบ ไม่ตัดยอดและริดใบ และมีสิ่งปนเปื้อน หวังเอาเปรียบเรื่องน้ำหนักอ้อยและเงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต้องการให้ชาวไร่ลด เลิกอ้อยไฟไหม้
หวั่นฉุดยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยร่วงแม้ปริมาณอ้อยสดที่เข้าหีบเพิ่ม หากไม่แก้ไขจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งระบบ หลังเปิดหีบอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2564/65 ผ่าน 21 วัน มีอ้อยเข้าหีบรวม 14.44 ตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้แล้ว 12.79 ล้านกระสอบ
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า หลังจากที่โรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงได้เปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2564/65 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า มีชาวไร่อ้อยบางรายได้ทำผิดระเบียบการจัดส่งอ้อยสดที่มีคุณภาพ เพื่อส่งมอบแก่โรงงาน
โดยไม่ตัดยอด ไม่ริดใบ และมีสิ่งปนเปื้อน ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่สามารถนำมาสกัดเป็นปริมาณน้ำตาลได้ โดยหวังผลประโยชน์รายได้จากการน้ำหนักอ้อยที่เพิ่มขึ้น หรือหวังเงินช่วยเหลือจากภาครัฐแต่อย่างเดียว แต่กลับส่งผลเสียต่ออ้อยเข้าหีบมีคุณภาพลดลงกระทบต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ส่งผลเสียต่อชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยลดลง อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอย่างรุนแรง ซึ่งในประเด็นดังกล่าว โรงงานได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้รับทราบปัญหา และดำเนินการลงโทษชาวไร่ให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว เพราะไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ใดเลย
ส่วนปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบหลังผ่านการหีบอ้อยมาแล้ว 21 วัน พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบรวม 14.44 ล้านตัน แบ่งเป็นอ้อยสด 11.61 ล้านตัน หรือคิดเป็น 80.41% และอ้อยไฟไหม้จำนวน 2.83 ล้านตัน หรือคิดเป็น 19.59% ซึ่งอ้อยไฟไหม้มีทิศทางที่ลดลง หากเทียบกับระยะเวลาหีบอ้อยที่เท่ากันกับฤดูหีบที่ผ่านมา โดยสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ 12.79 ล้านกระสอบ หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 88.54 กิโลกรัมต่อตันอ้อย
หลังจากโรงงานได้เปิดหีบอ้อยรับผลผลิต เราพบว่ามีชาวไร่บางรายส่งมอบอ้อยสดที่ไม่ได้คุณภาพ ตามระเบียบการจัดส่งอ้อยเข้าโรงงาน หรือไม่เป็นไปตามคุณลักษณะของอ้อยสดที่ต้องตัดยอด ริดใบออก และไม่มีอิฐ หิน ดิน ทรายที่เป็นสิ่งปนเปื้อนส่งมอบให้โรงงาน แต่กลับเจออ้อยที่ไม่ริดใบและตัดยอดออกแต่อย่างใด เพราะหวังเพียงผลประโยชน์ส่วนตน ที่ต้องการเงินช่วยเหลืออ้อยสดจากภาครัฐ และต้องการน้ำหนักอ้อยที่เพิ่มขึ้น
การกระทำดังกล่าวทำให้ยอดและใบอ้อยที่ไม่มีน้ำตาล เมื่อเข้าสู่กระบวนการหีบอ้อยแล้วจะดูดซับหรือดึงน้ำตาลจากกระบวนการผลิต ทำให้มีของเสียเพิ่มขึ้นและได้ผลผลิตน้ำตาลลดลง ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องสูญเสียรายได้ที่จะนำมาแบ่งปันให้ทั้งฝ่ายชาวไร่และโรงงาน