แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากหน่วยงานต่างๆ ได้ล้วงลูกเข้ามาตรวจสอบดีลควบรวมกิจการโทรคมนาคมครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคก่อนหน้านี้
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2564 ได้มีมติแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหนึ่งจำนวน 25 คน เพื่อพิจารณาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรูและดีแทค และการค้าปลีก -ค้าส่ง ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนจาก 7 พรรคการเมืองได้ร่วมเข้าชื่อต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทน ก่อนหน้านี้และเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนฯ พ.ศ.2562 ข้อ 49 และ 50 โดยกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการศึกษาและตรวจสอบไว้ 90 วัน
มีรายชื่อของกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม และธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งชุดดังกล่าว ประกอบด้วย ศ.กนก วงษ์ตระหง่าน ,นายกิตตศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นายเกียรติ สิทธิอมร ,นายพิชัย นริพทะพันธ์, นายพิเชษฐ สถิรชวาล ,นางสาวภาดาห์ วรกานนท์ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ,นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ,นพ.ระวี มาศฉมาดล ,พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ,พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย ,นายสุทิน คลังแสง,และน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนฯ ได้ติดตามและรับทราบข่าวการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทคมาตั้งแต่ต้นได้มีการหารือกัน และแสดงความเป็นกังวลต่อดีลควบรวมกิจการที่จะเกิดขึ้น เพราะก่อนการควบรวมกิจการนั้น ตลาดโทรคมนาคมไทยเป็นตลาดกึ่งผูกขาดที่มีผู้เล่นน้อยรายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยมีผู้ให้บริการอยู่พียง 3 ค่ายใหญ่เท่านั้น แต่ก็ยังมีการแข่งขันใน 3 ด้านหลัก คือ ด้านการให้บริการ การแข่งขันขยายเครือข่าย และคุณภาพบริการ แต่เมื่อมีการควบรวมกิจการจนเหลือผู้เล่นอยู่เพียง 2 ค่ายใหญ่ สิ่งเหล่านี้คงจะหายไป
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้สมาชิกจาก 7 พรรคการเมืองจึงร่วมลงชื่อขอให้ประธานสภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการทรู-ดีแทคในครั้งนี้ รวมไปถึงศึกษากฎหมายแข่งขันทางการค้าในภาพรวม และกรณีควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งอย่างแมคโคร-โลตัส ก่อนหน้านี้ด้วย
ทั้งนี้ การตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ข้อมูลกับหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช.ที่บอกว่า มีกฎหมายกำกับดูแลกันอยู่แล้วเพื่อให้มีการตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะกสทช.มี พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 44 ที่มีบทบัญญัติห้ามผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่รับใบอนุญาตดำเนินการให้เกิดการผูกขาด หรือลดทอนการแข่งขัน หากการตัดสินใจของ กสทช.ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ ทางสภาฯคงจะยื่นมือเข้าไปดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และกรณีที่พบว่ากฎหมายกำกับดูแลยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ สภาฯอาจยกร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาดูแล ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงกฎหมายแข่งขันทางการค้าในภาพรวมด้วย
สำหรับประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ กมธ.จะต้องลงไปศึกษานั้นประกอบด้วยประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ,ประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมปี 2561 เพื่อป้องกันมิให้เกิดการครอบงํากิจการในตลาดโทรคมนาคม รวมไปถึงประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2557