เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ ACT ออกมาเปิดเผยรายงานล่าสุดว่า ACT กำลังจับตาโครงการประมูลจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ10 หน่วยงานรวมกว่า 80,000 โครงการ ที่ดำเนินการไปในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดการคอร์รัปชันมากที่สุด โดยระบุว่า แต่ละหน่วยงานมีการกำหนดเงื่อนไขจัดซื้อจัดจ้างที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดการสมยอมราคาและทุจริตในทุกรูปแบบอาทิ มีผู้ซื้อซองจำนวนมาก แต่เข้าเสนอราคาน้อยราย มีการเกาะกลุ่มเสนอราคาที่ใกล้เคียงกันหรือเท่ากัน หรือ มีการหมุนเวียนกันยื่นประมูลงานในหลายโครงการ โดยผลัดกันเป็นผู้ยื่นราคาต่ำสุด(ผู้ชนะ) หรือผู้ยื่นประมูลหลายรายใช้เอกสารเงินค้ำประกันซองจากแหล่งเดียวกัน หรือใช้หลักทรัพย์เดียวกัน เป็นต้น
แหล่งข่าวในวงการรับเหมา เปิดเผยว่า อยากฝากองค์กร ACT ไม่ต้องไปจับตาดูโครงการประมูลที่มากมายถึง 7-80,000 โครงการที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการยิบย่อย เอาแค่ 2 โครงการจัดซื้อจัดจ้างยักษ์ ที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมอย่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เชื้อเชิญให้ ACT เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตุการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม Interiority Act ก่อน นั่นคือ การประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) วงเงิน 78,000 ล้านบาท กับ โครงการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุน 1.42 แสนล้านบาท
โครงการแรกก่อนหน้านี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีความพยายามจะนำเอาเกณฑ์การประมูลสุดพิสดาร ที่ใช้เกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาประกอบกัน หรือใช้เกณฑ์ Price Performance มาใช้แบบเดียวกับโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม แต่ถูกนักวิชาการ และภาคประชนท้วงติงอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ACT เองที่ไม่เล่นด้วยขู่จะถอนตัว จน รฟม.ต้องยอมกลับไปดำเนินการประมูลด้วยเกณฑ์ปกติ ที่จะชี้ขาดกันด้วยราคา ( Price Only )
ก่อนที่ รฟม.จะเปิดขายซองประมูลที่อ้างว่า เป็นการประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) ไปเมื่อกลางเดือน พ.ย.2564 และเปิดให้เอกชนเข้ายื่นข้อเสนอไปเมื่อ ปลายเดือน ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา โดยมีเอกชนรับเหมาเข้ายื่นข้อเสนอรวม 4 รายด้วยกัน จากโครงการประมูลก่อสร้างที่มีการแยกเนื้องานออกเป็น 6 สัญญา โดยคาดว่าจะได้ผู้ชนะประกวดราคาแต่ละสัญญาภายในไตรมาสแรกของปีนี้
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในกลุ่มผู้รับเหมาได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้นี้ ไม่ได้เป็นการประมูลแบบ International Bidding ดังที่ รฟม.กล่าวอ้างเพาราะไส้ในของเงื่อนไข TOR ที่วางไว้นั้น แทบจะเป็นการล็อคสเปค ปิดทางรับเหมาต่างชาติเข้าร่วมประมูล โดยกำหนดเกณฑ์ด้านเทคนิคที่เอกชนรับเหมาที่เข้าประมูลจะต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินกับรัฐบาลไทยเท่านั้น เป็นการตีกันรับเหมาต่างชาติเข้าร่วมประมูลตั้งแต่แรก ทำให้เหลือกลุ่มรับเหมาเข้าประมูลได้เพียง 4 รายเท่านั้น
ทั้งนี้เมื่อเจาะลงไปดูแต่ละสัญญาจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แต่ละสัญญานั้นมีรับเหมาเข้าร่วมชิงดำเพียง 2-3 รายเท่านั้น เช่น กลุ่ม ช.การช่าง( CK ) ที่จับมือกับกลุ่มซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง (ST)ที่เข้ายื่นประมูลทุกสัญญา อีกกลุ่มคือ ITD ที่เข้าประมูล 5 สัญญา และยูนิค เอ็นจิเนียริ่งฯ(UNIQ) ที่เข้าประมูลครบทั้ง 6 สัญญาเช่นกัน ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่า งานนี้มีการแบ่งเค้กงานรับเหมาโครงการเอาไว้แล้วหรือไม่
“เมื่อไส้ใน TOR ไม่ได้เป็น International Competitive Bidding เพราะมีการกำหนดเงื่อนไข ที่เป็น Local content ตีกันรับเหมาต่างชาติเข้ายื่นประมูลตั้งแต่แรก เหลือรับเหมาเข้าชิงดำเพียง 3 รายจาก 6 สัญญา จึงแทบจะเป็นการแบ่งเค้กกันตั้งแต่ในมุ้ง ไม่ต่างไปจากการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ 2 สายทางของการรถไฟฯ(รฟท.)ก่อนหน้านี้ คือ โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของวงเงิน 72,920 ล้านบาท และรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงินรวม 55,458 ล้านบาท ซึ่งแยกเนื้องานออกเป็น 5 สัญญา( 3 สัญญาและ 2 สัญญาตามลำดับ) โดยมีกลุ่มรับเหมาเข้าประมูลในแต่ละสัญญาเพียนง 1-2 ราย และผลประมูลที่ได้ ผู้รับเหมาเสนอต่ำกว่าราคากลางเพียง 30-40 ล้านบาทเท่านั้นหรือ 0.08% ของทั้งสองโครงการ”
ถือเป็นอีกความท้าทายต่อนโยบายปราบทุจริต และท้าทายองค์กร ACT ว่าจะจับได้ไล่ทันแค่ไหน เช่นเดียวกับโครงการรถไฟทางคู่ 1.28 แสนล้านบาทก่อนหน้านี้ ซึ่งแม้นายกฯ จะตั้งกรรมการขึ้นตรวจสอบทุจริตโครงการ แต่ท้ายที่สุดก็ยอมยกธงไฟเขียวให้การรถไฟเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาไปแล้วหลังถูกใช้เป็นข้อต่อรองทางการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาล
“โครงการรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้นี้ก็เช่นกัน เมื่อการกำหนดเงื่อนไข TOR ที่อ้างเป็น ICB แต่กลับแฝงไว้อะไรบ้างอย่างไว้ ตีกันรับเหมาต่างชาติเข้าร่วมเช่นนี้ วงการรับเหมาจึงได้ แต่ทำใจงานนี้คงมีแต่การแบ่งเค้กของกลุ่มทุนรับเหมาเท่านั้น ส่วนรับเหมารายกลางและรายเล็กไม่มีสิทธิ์เข้าร่วม และหากโครงการนี้ผ่านฉลุย ก็ให้จับตาการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม วงเงิน 1.427 แสนล้าน ที่ผนวกเอาโครงการจัดหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนเข้าไว้ด้วยกัน จะเจริญรอยตามโครงการนี้ ตามมาอย่างแน่นอน”