รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศโดยมีมาตรการต่างๆเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่องโดยเฉพาะในระบบขนส่งสาธารณะและสอดคล้องกลับแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่มีสาเหตุมาจากการจราจรติดขัดในเมืองปัจจุบันองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) มีแผนฟื้นฟูกิจการที่เร่งดำเนินการในส่วนการจัดหารถไฟฟ้าอีวีและจ้างเอกชนเช่าวิ่งตามระยะทาง เนื่องจากสภาพรถที่ให้บริการประชาชนค่อนข้างทรุดโทรม โดยเริ่มทยอยรับรถโดยสารไฟฟ้า (EV) ล็อตแรก จำนวน 400 คัน หลังจาก ครม.อนุมัติภายใน 3 เดือน จนครบ 2,511 คัน ภายใน 6 เดือน ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟู ขสมก. โดยในปัจจุบัน ขสมก. มีรถวิ่งให้บริการอยู่ประมาณ 2,900 กว่าคัน ทั้งนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้ปลดระวางรถ จำนวน 70 กว่าคัน
ทั้งนี้ขสมก.อยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลจ้างเอกชนวิ่งรถ เพื่อนำมาวิ่งให้บริการในเส้นทางใดบ้าง โดยเฉพาะเส้นทางที่มีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก คาดว่า จะสรุปรายละเอียดได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หรือ 2 เดือนนับจากนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้รถโดยสารเพียงพอต่อการให้บริการประชาชนที่ในปัจจุบัน ขสมก.มีผู้โดยสารใช้บริการ กว่า 600,000 คนต่อวัน
ขณะที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)ได้ร่วมรณรงค์การลดมลพิษทางอากาศโดยการลดภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในไทยแพร่หลายในประเทศต่างๆในยุโรป
รายงานจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาการขนส่งในเมือง โดยเฉพาะหลังจากการเปิดใช้งานสถานีกลางบางซื่อในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 โดยสถานีกลางบางซื่อมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 6 แสนคนต่อวันมากกว่าสถานีหัวลำโพงถึง 10 เท่า และยังเป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางรางที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ - ดอนเมือง - อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของรถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย เส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ทั้งนี้ในอนาคตสถานีกลางบางซื่อจะกลายเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งใหม่และเป็นจุดเชื่อมต่อหลักของระบบการขนส่งมวลซนทางรางของกรุงเทพฯ ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างศึกษาโครงการรถไฟทางไกล ซึ่งจะเปลี่ยนจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานไฮโดรเจน และการใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า โครงการทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม คือ 1.การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม2.การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ 3.การเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม และ 4.การใช้นวัตกรรมและการจัดการ
นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทฯ ได้ใช้งบลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท ดำเนินการระบบการจัดเก็บตั๋วโดยสาร และผลิตรถโดยสารไฟฟ้าให้ได้จำนวน 470 คัน เนื่องจากมีแผนจะเปิดเส้นทางเดินรถรถโดยสารประจำทางให้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะนี้การขอใบอนุญาตเส้นทางเดินรถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเบื้องต้นจะเปิดเพิ่ม 10 เส้นทาง แบ่งเป็น ภาคตะวันออกจำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-พัทยา กรุงเทพฯ-สัตหีบ กรุงเทพฯ-ศรีราชา กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา โดยได้จัดเตรียมรถโดยสารไฟฟ้าขนาดเล็ก (มินิบัส) ขนาด 7.6 เมตร จำนวน 20 ที่นั่ง จำนวน 150 คัน เส้นทางละ 30 คันให้บริการ ค่าโดยสารตามที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนด ประมาณ 100-120 บาทต่อคนต่อเที่ยวตามระยะทาง
“คาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้โดยสารที่ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง หรือประมาณ 80% หรือ 16 คนต่อคันต่อเที่ยว เนื่องจากเส้นทางที่ให้บริการในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก และมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว เช่นเดียวกับคาดการณ์ว่า จะได้รับความสนใจของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาเดินรถในเส้นทางดังกล่าวข้างต้น ซึ่งล่าสุด พบว่า มีผู้สนใจหลายราย โดยหลังจากนี้บริษัทฯ จะพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ความมั่นคงทางการเงิน เป็นต้น”
ในปี 2565 บริษัทฯ เตรียมเปิดให้บริการเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-อุดรธานี กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ จะใช้รถโดยสารไฟฟ้า ขนาด 12 เมตรชั้นเดียว จำนวน 32 ที่นั่งให้บริการ ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเรื่องอู่จอดรถ จุดขึ้น-ลงผู้โดยสาร และสถานีชาร์จไฟฟ้า เนื่องจากเส้นทางเหล่านี้มีระยะทางไกล อีกทั้ง รถโดยสารไฟฟ้ายังมีข้อจำกัดเรื่องสถานีชาร์จแบตเตอรี่ เพราะในไทยยังมีรถโดยสารไฟฟ้าให้บริการไม่มากนัก ดังนั้นควรจะต้องมีสถานีชาร์จในระหว่างทาง ในระหว่างที่รถโดยสารเข้าจุดพักรถตามเงื่อนไขที่ ขบ. กำหนดว่า ถ้าระยะทางเกิน 400 กม. ควรหยุดพัก 30 นาที สอดคล้องกับระยะเวลาการเวลาชาร์จรถไฟฟ้าประมาณ 30 นาที ในระหว่างที่จอดพักรถนี้ให้ผู้โดยสารลงไปทำธุระส่วนตัวได้ ส่วนรถโดยสารจะได้ชาร์จแบตเตอรี่ด้วย รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เป็นไปตามเงื่อนไขของ ขบ. กำหนด หากมีความพร้อมแล้วจะประชาสัมพันธ์ในการเปิดให้บริการต่อไป นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเปิดเส้นทางภาคตะวันตก 1 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-หัวหิน และภาคเหนือ 1 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-นครสวรรค์ ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการให้บริการเช่นเดียวกัน
ส่วนการเปิดให้บริการเส้นทางรถโดยสารเพิ่มครั้งนี้ ทางบริษัทฯ ไม่ได้มองว่าจะมีความเสี่ยง เนื่องจากตอนนี้ผู้ประกอบการรถโดยสารหลายเส้นทางได้เลิกให้บริการไปหลายรายแล้ว เพราะผลกระทบจากโควิด-19 และยังมีคู่แข่งสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) แต่ที่ผ่านมาสายการบินโลว์คอสต์ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ เชื่อว่า การให้บริการรถโดยสารนั้น จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการ อีกทั้งบริษัทฯ ได้ใช้รถโดยสารไฟฟ้า มีต้นทุนการดำเนินการที่ถูกกว่า รวมถึงเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มีสภาพที่ใหม่ ทันสมัย และเข้มงวดตามมาตรการสาธารณสุขในการป้องกันโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารเกิดความมั่นใจในการใช้บริการ ควบคู่กับได้บริการที่สะดวก สบาย และปลอดภัย
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)หรือ EA กล่าวว่า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เป็นโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเตรียมแผนขยายกำลังการผลิตสู่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีตามแผนในอนาคต
โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบสำรองไฟฟ้าแห่งนี้ มีกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งระยะแรกนี้มีความพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตได้สูงสุดถึง 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในทันที มีพื้นที่การผลิตภายในโรงงานรวมกว่า 80,000 ตารางเมตร เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชนิด Pouch Cell และระบบสำรองไฟฟ้าแบบครบวงจรที่ใช้ระบบอัจฉริยะ และระบบการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุดและต้นทุนไม่สูง
“โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงาน จะเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) และการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีเสถียรภาพเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ออกแบบให้โรงงานแห่งนี้ใช้ระบบที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ”
ขณะเดียวกันโรงงานยังเน้นแนวคิดที่ใช้พลังงานในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต โดยมุ่งเน้นการรีไซเคิลในกระบวนการผลิตให้มากที่สุด โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท อมิตา เทคโนโลยี อิงค์ (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไต้หวันมากว่า 20 ปี
“แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชนิด Pouch Cell ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และวัสดุที่มีความปลอดภัยสูงในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ให้สามารถจุพลังงานได้สูง มีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตราย เช่น กรดหรือตะกั่ว และใช้เทคนิคพิเศษในการผลิตเซลล์ เพื่อให้สามารถคัดแยกแผ่นขั้วบวกและขั้วลบได้ง่ายในขั้นตอนของการรีไซเคิลเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงทำให้เป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
นอกจากนี้แบตเตอรี่ของอมิตา ยังออกแบบให้เข้ากันกับเทคโนโลยีแบบ Ultra-Fast Charge ที่รองรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ภายในเวลาเพียง 15 นาที พร้อมรองรับการชาร์จได้สูงถึง 3,000 รอบ ที่จะเป็นจุดเด่นสำหรับรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจัยเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญในการใช้งานอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และเรือโดยสารไฟฟ้า เพื่อช่วยในการลดการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน
อย่างไรก็ตามแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่ผลิตได้ในระยะเริ่มต้น ขนาด 1 กิกะวัตต์ หรือ 1,000,000 กิโลวัตต์ สามารถนำมาใช้ในรถโดยสารไฟฟ้า ขนาด 11 เมตร ซึ่งขับเคลื่อนได้ระยะทางสูงสุด 240 กิโลเมตร ได้ถึง 4,160 คันต่อปี ซึ่งการใช้รถโดยสารไฟฟ้า 4,160 คัน สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission Reduction) 91,709 ตันต่อปี และลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้กว่า 97,066,667 ลิตรต่อปี เมื่อเทียบกับรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซล