นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า ผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนและท้องถิ่น ที่บ่งบอกถึงขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมในแต่ถิ่นฐาน ตามภูมิปัญญาของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น เมื่อครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชปณิธานอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย
ทรงอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน เพื่อเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน และลดปัญหาการว่างงาน รวมทั้งการทิ้งถิ่นฐานนั้น ส่งผลให้ผ้าไทยและผ้าประจำท้องถิ่น กลับมามีช่องทางการจำหน่ายที่สดใสมากขึ้น ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
จังหวัดลพบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการรวมกลุ่มทอผ้าไทย และผ้าพื้นเมืองท้องถิ่นหลายกลุ่ม และหลายอำเภอพร้อมสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ แก่สายตาผู้ที่ชื่นชอบผ้าไทยอย่างมากมาย จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองอย่างต่อเนื่อง
ทั้งยังสอดรับกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในการดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย
รวมทั้งขับเคลื่อนมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคำนึงถึงมาตรฐาน การดูแลรักษา ราคาที่เหมาะสม และรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของผ้าไทย เพื่อให้ผ้าไทยสามารถจำหน่ายและแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน
จากการประชาสัมพันธ์โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” และการพระราชทานลายผ้า “ลายผ้าขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่
จึงมีแนวทางส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยของคณะรัฐมนตรี โดยให้บุคลากรหน่วยงานในจังหวัดลพบุรี สวมใส่ผ้าไทยเป็นประจำทุกวัน ยกเว้นวันที่แต่งเครื่องแบบ หรือชุดข้าราชการ และให้สวมใส่ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ หรือผ้าทอพื้นถิ่น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปลุกกระแสความนิยมผ้าไทย โดยเฉพาะผ้ามัดหมี่ของจังหวัดลพบุรี ซึ่งถือว่าเป็นผ้าประจำท้องถิ่น โดยได้มอบหมายให้ทางสำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดลพบุรี ทำหนังสือแจ้งส่วนราชการทุกแห่ง ให้ส่งภาพถ่ายขณะสวมใส่ผ้าไทยเพื่อประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เพจ OTOP TODAY LOPBURI , เพจ ผ้าไทยลพบุรี Lopburi’s Thai Fabric
นอกจากนี้ในส่วนของแต่ละอำเภอ ให้รายงานผลการส่งเสริมและสนับสนุน การสวมใส่ผ้าไทยใส่ให้สนุกเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งมีการจัดเก็บข้อมูลรายได้จากการจำหน่ายผ้าทอ ของสมาชิกกลุ่มทอผ้า ทั้งผ้าทอลายพระราชทาน และผ้าทอลายอื่น ๆ เครือข่ายผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดลพบุรี และยังส่งเสริมการจัดแสดงสินค้าประเภทผ้าทอ พร้อมทั้งมีการจัดทำ แคตตาล็อกผ้าไทยบนสื่อออนไลน์ เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้ผู้บริโภคเข้าถึงผ้ามัดหมี่ ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดลพบุรีอีกด้วย
ขณะที่นางศศิประภา ยนปลัดยศ ประธานกลุ่มเครือข่ายทอผ้าบ้านร่วมใจสามัคคี หมู่ 12 ต.โคกเจริญ เผยว่า ก่อนหน้ากลุ่มได้ทอผ้าลวดลายมัดหมี่ทอมือ 25 ลำ ซึ่งเป็นลวดลายทั่ว ๆ ไป พอเจอสถานการณ์โควิด-19 ผ้าที่ชาวบ้านทอไว้ขายไม่ได้เลย รายได้ลดลงเป็นอย่างมาก
ต่อมาได้รับพระราชทาน “ลายผ้าขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สมาชิกได้รับการฝึกอบรม รวมทั้งได้รับงบประมาณจากกองทุนบทบาทสตรี ของสำนักงานพัฒนาชุมชน มาสอนเรื่องการค้นหมี่การมัดย้อม เพื่อจะได้ออกมาเป็นลายขอพระราชทานฯ
ซึ่งภายหลังจากรับการอบรม สมาชิกต่างพึงพอใจและภาคภูมิใจที่ทอผ้าลายขอออกมา โดยสมาชิกต่างขายผ้าได้ มีรายได้เพิ่ม ความเป็นอยู่ในครอบครัวก็ดีขึ้น ทุกคนซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานลายผ้ามาให้กลุ่มทอผ้าเพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มแม่บ้าน
ด้านนางวันทนา สุขสุแพทย์ เลขานุการกลุ่มศิลปินโอทอป ซึ่งผลิตผ้าทอพื้นเมืองบ้านโคกเจริญ เผยว่า “ลายผ้าขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่ทรงพระราชทานให้แก่กลุ่มผ้าทอต่าง ๆ นับว่าเป็นการต่อยอดและฟื้นเศรษฐกิจผ้าทอมือและผ้าท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
ยิ่งทางจังหวัดลพบุรีได้ส่งเสริมให้มีการสวมใส่ผ้าไทย ทำให้เป็นการปลุกกระแส และกระตุ้นให้ผ้าทอมือของกลุ่มต่าง ๆ ในอำเภอโคกเจริญ และบ้านหมี่ มียอดขายที่ดีขึ้น รวมทั้งต่างก็มุ่งมั่นผลิตผ้าทอมือสวย ๆ ออกมาให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อเลือกใช้ โดยเมื่อเทียบกับยอดขายของปีที่ผ่านมา ตอนนี้เติบโตถึงกว่าร้อยละ 70 เลยทีเดียว
ธนพล อาภรณ์พงษ์/รายงาน