ความคืบหน้าการ"ลดภาษีน้ำมัน" แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ก.พ.2565 กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงไม่เกิน 3 บาทต่อลิตร
โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเชลครั้งนี้ เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เรียกนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน พร้อมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือลับ เพื่อจัดทำรายละเอียดเสนอต่อที่ประชุมครม.พิจารณา
“นายกฯ เรียกประชุมหน่วยงานต่าง ๆ มาประชุมลับเพื่อออกกฎหมายมาลดภาษีสรรสามิตน้ำมันดีเซล แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงตอนนี้ โดยได้ข้อสรุปว่าจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เข้ามาแก้ปัญหาควบคู่กัน เหมือนที่เคยมาในช่วงรัฐบาลก่อน”
ขณะเดียวกันยังมีการหารือถึงแผนการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันยังติดปัญหาการกู้เงินไม่ได้ เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังไม่ได้รับรองเรื่องการใช้เงิน และรายละเอียดของบัญชีกองทุนฯ ทำให้ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการกู้เงินในส่วนที่เหลือได้ ดังนี้นจึงต้องหารือกับ สตง.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความชัดเจนก่อน เพื่อใหการกู้เงินสามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย
อย่างไรก็ตามในการดำเนินการครั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงเพียงชนิดเดียว ซึ่งตามโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบัน ตัวอย่าง ณ วันที่ 20 ต.ค.2564 จะพบว่า ภายใต้ราคาน้ำมัน 29.29 บาทต่อลิตร จะมีต้นทุนภาษีสรรพสามิต 5.99 บาทต่อลิตร
รวมทั้งยังมีภาษีอื่น ๆ ด้วย ทั้งภาษีเทศบาล 0.599 บาทต่อลิตร และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1.872 บาทต่อลิตร หากรวมกันแล้วจะมีการจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 8.461 บาทต่อลิตร
แหล่งข่าว กล่าวว่า ส่วนของภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินนั้น กระทรวงการคลังจะยังไม่พิจารณาปรับลดลงเหมือนกับภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล แต่จะมีการออกมาตรการช่วยเหลือเป็นแบบเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ หรือจักรยานยนต์รับจ้าง โดยจะใช้กลไกช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น