พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง IUU เเผยว่า วันนี้ได้ลงพื้นที่ ท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ พร้อมกับชุดปฏิบัติการจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือหน่วย “IUU Hunter” เข้าร่วมการตรวจเรือประมงในครั้งนี้ด้วย
เพื่อยกระดับการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (Monitoring Control and Surveillance : MCS) ให้การประมงไทย ปราศจากการประมง IUU ปราศจากแรงงานบังคับ ปราศจากการค้ามนุษย์ อย่างแท้จริง โดยดำเนินการตรวจเรือประมงพาณิชย์กว่า 10,000 ลำ ที่จะขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2565 นี้ ซึ่งพี่น้องชาวเรือประมงพาณิชย์ทุกท่านสามารถนัดหมายเข้าทำการตรวจได้ที่ ศูนย์แจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) หรือสำนักงานประมงจังหวัดทุกแห่ง
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ฯ กล่าวว่า “การบูรณาการตรวจเรือประมงทั้งระบบครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการยกระดับประสิทธิภาพการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังการทำประมง (MCS) ของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่บทบาท “ผู้นำการต่อต้านประมง IUU ในภูมิภาคอาเซียน” นอกจากนั้นยังเป็นการขับเคลื่อนให้เห็นถึงความพยายามของประเทศไทยอย่างเต็มที่ ในการบังคับใช้กฎหมาย ปรับปรุงระบบการทำงาน เพิ่มพูนความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ และประสานความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมง เพื่อเลื่อนอันดับการค้ามนุษย์จาก Tier 2 Watchlist เป็น Tier 2”
“ได้จัดกำลังชุดปฏิบัติการ IUU Hunter จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวนกว่า 100 นาย เข้าร่วมปฏิบัติการตรวจครั้งนี้ด้วย เจ้าหน้าที่ชุด IUU Hunter จะลงพื้นที่ทุกจุดตรวจใน 22 จังหวัดชายทะเล ร่วมกับ กรมประมง กรมเจ้าท่า และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และจากการที่ผมกำลังรื้อฟื้นการสืบสวนสอบสวน ทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีลูกเรือประมงตกน้ำสูญหาย 231 ราย ในรอบ 2 ปี ซึ่งเป็นที่จับตามองของภาคประชาสังคม เพื่อทำความกระจ่างให้เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ความสูญเสียที่ผ่านมา”
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ฯ กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัย และอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานบนเรือประมง ขึ้นเป็นครั้งแรกของภูมิภาคอาเซียน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจของประเทศไทยที่จะแก้ไขปัญหา และกำหนดมาตรการส่งเสริม ป้องกัน มิให้เกิดเหตุขึ้นต่อไปในอนาคต แต่หากมีเหตุเกิดขึ้น การบังคับใช้กฎหมายจะมีความเป็นระบบ ชัดเจน สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเพิ่มความรวดเร็วในการเยียวยาความเสียหายให้กับครอบครัวหรือญาติมิตร ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งผมมั่นใจว่านี่คือการทำงานตามมาตรฐานสากล”
“ในการตรวจครั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกคน อำนวยความสะดวก ให้กับพี่น้องชาวประมง ดำเนินการตรวจให้รวดเร็ว คล่องแคล่ว ว่องไว เรือที่ผ่านการตรวจจะได้รับเครื่องหมายติดไว้บริเวณหน้าเก๋ง เป็นสัญลักษณ์ว่า เรือประมงลำนี้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำการประมงอย่างยั่งยืน สามารถเข้าถึงนโยบายการสนับสนุนต่าง ๆ จากภาครัฐที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคต”
ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ได้ทราบถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการขอเข้าตรวจเรือประมง หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในภาคการประมง สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือ www.humantrafficking.police.go.th หรือ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/TICAC2016 หรือ LineOA: @HUMANTRAFFICKTH หรือ TWITTER: @safe_dek หรือช่องทางใหม่ล่าสุดคือ การสแกน QR CODE เพื่อกรอกแบบฟอร์มในการแจ้งเหตุและเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวเพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป