น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรูและดีแทค และการค้าปลีก-ค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญภาคเอกชนเข้ามาหารือถึงกรณีดังกล่าว
โดยเชิญผู้บริหารของค่ายมือถือ ทั้ง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท แอ๊ดวานซ์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เข้ามาชี้แจงข้อมูลเหตุผลความจำเป็นของการควบรวมกิจการ ซึ่งทางบริษัทได้ส่งตัวแทนมามาชี้แจง
สำหรับผลการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการสอบถามในหลายประเด็น แม้จะได้รับทราบเหตุผลความจำเป็นเบื้องต้นในการควบรวมกิจการแล้ว ทั้งแนวทางการควบรวมกิจการ ข้อกฎหมาย และผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา แต่ยังมีบางเรื่องที่ขอให้ทั้ง 2 บริษัท กลับไปจัดทำข้อชี้แจงมาให้คณะกรรมาธิการเพิ่มเติมมาอีกครั้ง เพื่อนำข้อมูลไปศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการต่อไป
ทั้งนี้คำถามที่คณะกรรมาธิการฯ ยังมีข้อสงสัย เช่น สาเหตุสำคัญจริง ๆ ของการควบรวมกิจการครั้งนี้มีอะไรเพิ่มเติมอีก เพราะแม้ว่า ในการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัทจะได้ชี้แจงไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะกรณีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทางผู้บริการจะมีการให้บริการใหม่ ๆ อย่างไรบ้าง เพื่อให้การใช้เครือข่ายมากขึ้น และไม่กระทบต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของต้นทุนการบริการ
ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของการลดต้นทุนของผู้ประกอบการว่า จะกระทบต่อการให้บริการหรือไม่ และยังสามารถแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมต่อไปได้อย่างไรบ้าง หากมีการลดต้นทุนลงไปแล้ว และมีความเหมาะสม
“การเชิญมาชี้แจงจากทางผู้ให้บริการตอนนี้น่าจะเพียงพอแล้ว คงไม่ต้องเชิญมาอีก แต่ให้ไปตอบบางข้อสงสัยเท่านั้น ส่วนอีกเรื่องที่ยังต้องรอคำตอบอยู่คือ ข้อมูลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โดยคณะกรรมาธิการฯ อยากรู้เรื่องของอำนาจการกำกับดูแลตามกฎหมายในกรณีการควบรวมจะมีมาตรการใด ๆ ในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่า ไม่ส่งผลกระทบ และได้รับบริการเครือข่ายที่มีคุณภาพ และราคาที่เป็นธรรม”
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า หากผู้ให้บริการตอบข้อสงสัยเพิ่มเติมกลับมาแล้ว จะพิจารณาข้อมูลอีกครั้ง ส่วนในการประชุมครั้งหน้า จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงถึงกรณีการค้าปลีก-ค้าส่งต่อ เพราะตอนนี้มีกรณีการควบรวมกิจการของแม็คโคร กับโลตัส ซึ่งจะต้องมีการหารือให้ครบถ้วน
จากนั้นในสัปดาห์ถัดไปจะเชิญ กสทช. มาตอบคำถามต่าง ๆ ทั้งหมด แล้วจะสรุปข้อมูลรายละเอียดทั้งหมด เพื่อเสนอทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับไปพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป