วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกได้ปิดล้อมทางเศรษฐกิจรัสเซียหนักขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการคว่ำบาตรธนาคารของรัสเซีย โดยจะตัดออกจากระบบการเงินของโลก (ระบบ SWIFT) การคว่ำบาตรบุคคลสำคัญของรัฐบาลและภาคเอกชนรัสเซีย รวมถึงส่งอาวุธไปช่วยยูเครน ขณะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ซึ่งรวมถึงไทย ได้ลงมติ (2 มี.ค.) 141 เสียง ต่อ 5 เสียง(ที่คัดค้าน) เรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครน และถอนกองทัพทั้งหมดออกไปโดยทันที
จากเหตุการณ์ที่ยังยืดเยื้อในเวลานี้ได้ลามกระทบต่อไทยอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งด้านการค้า การส่งออก การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจในภาพรวมที่เวลานี้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกได้พุ่งสูงขึ้นระดับ 115 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาสินค้าและบริการ เงินเฟ้อในไทยปรับตัวสูงขึ้น กระทบค่าครองชีพ สวนทางกับเงินในกระเป๋าที่ลดลง ล่าสุดกำลังจะซ้ำเติมยิ่งเข้าไปอีก เมื่อสินค้าปศุสัตว์ ทั้งหมู ไก่ เป็ด และไข่ไก่ ที่วัตถุดิบอาหารสัตว์ในการเลี้ยงมีทิศทางขาขึ้นอีกระลอก กระทบเกษตรกรผู้เลี้ยง และผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องร้องขอปรับขึ้นราคา
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เวลานี้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญ ทั้งที่นำเข้าและในประเทศ(แต่ขาดแคลน) ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าวโพดจากเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 10.54 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ปัจจุบันอยู่ที่ 12 บาทต่อกก. และมีแนวโน้มอาจปรับขึ้นถึง 15 บาทต่อกก.ในเวลาอันใกล้ จากขณะนี้ข้าวโพดในมือเกษตรกรได้เก็บเกี่ยวและขายไปหมดแล้ว ส่วนใหญ่เวลานี้อยู่ในมือพ่อค้าในประเทศที่ปรับขึ้นราคาขาย
ส่วนข้าวสาลีนำเข้า จาก ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 8.91 บาท ต่อกก. ขณะนี้ขึ้นไปที่ 12.75 บาทต่อกก. และกากถั่วเหลืองที่โรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลือง (นำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองมาสกัด และขายให้โรงานอาหารสัตว์) เวลานี้ขายที่ 22.50 บาทต่อ กก. จากเดือนธ.ค. 2564 อยู่ที่ 18.91 บาทต่อ กก.
“ในส่วนของข้าวสาลีที่ไทยต้องนำเข้าแบบมีเงื่อนไข (รัฐบาลมีเงื่อนไขซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน แลกนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) ส่วนหนึ่งนำเข้าจากยูเครน และรัสเซีย (ปี 64 ไทยนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครน 3.42 แสนตัน ไม่มีการนำเข้าจากรัสเซีย ขณะที่ปี 63 ไทยมีการนำเข้าจากรัสเซีย 3.04 แสนตัน) เวลานี้ผู้ค้าข้าวสาลีของยูเครนได้หยุดการซื้อขาย เพราะราคาข้าวสาลีไม่นิ่งและมีทิศทางขาขึ้นไม่หยุด หากตกลงขายในช่วงนี้ราคาขยับขึ้นไปอีกเขาจะขาดทุนทันที ขณะที่ของก็ขาดจากหลายประเทศแย่งซื้อ จึงไม่รีบขาย รวมถึงผลจากสงครามครั้งนี้ทำให้สายเดินเรือดีเลย์ หรือหยุดการเดินทางเพราะเกรงไม่ปลอดภัย และรอดูสถานการณ์ ทุกอย่างวุ่นวายไปหมด มีเงินก็ซื้อของไม่ได้”
สิ่งที่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ได้ดำเนินการเวลานี้ คือการติดต่อเพื่อจัดหาวัตถุดิบ ทั้งข้าวสาลี กากถั่วเหลือง ข้าวโพดจากแหล่งอื่น เพราะการซื้อเป็นสั่งซื้อล่วงหน้า ไม่ใช่สั่งซื้อวันนี้แล้วได้เลย เช่น จากอาร์เจนตินา บราซิล สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย แต่สิ่งที่เจอเหมือนกันคือทุกแหล่งราคาปรับตัวสูงขึ้น จากผลกระทบวัตถุดิบขาดแคลน และราคาสูงขึ้นส่งผลให้โรงงานผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ 52 บริษัท ที่มีโรงงานผลิตรวมกันเป็นร้อยโรง หลายรายได้เริ่มปรับลดการผลิตลง และป้อนสินค้าให้ลูกค้าที่เป็นฟาร์มในเครือของบริษัทก่อนเป็นอันดับแรก ถัดมาคือลูกค้าประจำที่เป็นคู่ค้าใกล้ชิดที่ค้าขายกันมานาน ส่วนลูกค้าขาจรต้องลดจำนวนสินค้าลง
ขณะที่ข้อเท็จจริงเวลานี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ยังพอมีสต๊อกวัตถุดิบเก่าอยู่บ้าง แต่หากไม่มีของใหม่เข้ามาเติมคาดจะผลิตได้อีกไม่เกิน 1 เดือน หากอาหารสัตว์ขาดแคลนจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.7 ล้านล้านบาทได้ (กราฟิกประกอบ) และหากกระทรวงพาณิชย์ไม่พิจารณาปรับขึ้นเพดานราคาอาหารสัตว์ (ที่เป็นสินค้าควบคุม) ผู้ประกอบการคงอยู่ลำบาก เพราะเวลานี้ราคาจำหน่ายชนเพดานแล้ว และไม่สามารถให้ส่วนลดราคาแก่ลูกค้าเช่นเดิมได้ จากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก
ด้าน นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉลี่ยปรับขึ้นมาแล้ว 50-60% ปัจจุบันเกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงไก่สูงขึ้นมากเฉลี่ย 36-38 บาทต่อ กก. แต่กระทรวงพาณิชย์ได้ดึงสินค้าเนื้อไก่ รวมถึงไข่ไก่เป็นสินค้าควบคุม (จากผลพวงราคาเนื้อหมูแพงก่อนหน้านี้) การปรับราคาต้องได้รับอนุญาต
ทั้งนี้กรมการค้าภายใน ได้ขอให้ผู้ประกอบการและผู้ค้าตรึงราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ที่ 33.50 บาทต่อกก., ไก่สดรวม/ไม่รวมเครื่องใน 60-65 บาทต่อกก., น่องติดสะโพก/น่อง/สะโพก 60-65 บาท ต่อกก. และเนื้ออก 65-70 บาท ต่อกก.โดยให้มีผลถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 65 เรื่องนี้ขอให้ภาครัฐยุติการตรึงราคาเนื้อไก่และไข่ไก่ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเลี้ยงสัตว์ต่อไป
นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ย และธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อตลาดปุ๋ยเคมีในไทยด้วย จากที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าแม่ปุ๋ยจากรัสเซีย รวมถึงเบลารุส (ที่เป็นพันธมิตรกับรัสเซีย) รวมปีละ 6.5-7 แสนตัน เวลานี้มีปัญหาการสั่งซื้อจากทั้งสองประเทศและมีปัญหาการขนส่ง ผลกระทบตามมาคือ ราคาแม่ปุ๋ยทั่วโลกที่กำลังปรับขึ้นจะกระทบโรงงานผลิตปุ๋ยในไทยอาจต้องลดกำลังการผลิต เลวร้ายสุดคือเลย์ออฟพนักงาน ขณะที่ปุ๋ยเป็นสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ที่ยังไม่อนุญาตให้มีการปรับขึ้นราคา
ทั้งนี้สมาคมฯจะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอให้ขยับราคาขายที่เหมาะสม 1.ไม่เอากำไรเกินควร 2. เพื่อให้โรงงานมีกำลังจ้างทำงาน และ 3.ไม่ทำให้ขาดทุนจนเจ๊ง
สำหรับการนำเข้าปุ๋ยเคมีย้อนหลัง 3 ปีของไทย ปี 2564 นำเข้า 5.5 ล้านตัน ปี 2563 นำเข้า 5.14 ล้านตัน และปี 2562 นำเข้า 5.02 ล้านตัน โดยปี 2564 นำเข้าสูงสุดจากจีน รองลงมาคือ ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย (นำเข้าจากรัสเซีย 4.45 แสนตัน)
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนคงยืดเยื้อ น้ำมันดิบโลกวันนี้ทะลุ 115 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลแล้ว และมีโอกาสอาจทะลุ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลต่อราคาน้ำมันในไทยจะปรับตัวสูงขึ้นอีก และจะกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการจับจ่ายใช้สอยลดลงจากสินค้าแพงขึ้น
นอกจากนี้เหตุการณ์ยังกระทบต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วโลกรวมถึงไทยเพิ่มสูงขึ้น เพราะยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ของโลก แนะนำให้ภาครัฐควบคุมราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศไม่ให้สูงไปกว่านี้ เพราะจะกระทบต่อผู้เลี้ยงสัตว์ และห่วงโซ่อาหาร
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3763 วันที่ 6 – 9 มีนาคม 2565