รายงานข่าวจากวงการผู้ผลิตอาหารสัตว์ เผยว่า วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของโลกเท่านั้น แต่ยังกระทบความมั่นคงทางอาหารของผู้บริโภคทั่วโลกด้วย เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ เป็นผู้ผลิตธัญพืชสำคัญของโลกทั้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวสาลี ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ ส่งผลให้ราคาข้าวโพดสูงขึ้น 14% และข้าวสาลีพุ่งขึ้น 43% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2564 ในกรณีที่สงครามยืดเยื้อราคาจะปรับสูงขึ้นไม่หยุด และหากภาครัฐไม่มีมาตรการสนับสนุนภาคการผลิต จะเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและมีราคาสูงมาก และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของประชาชน
ขณะนี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้นมากตามราคาตลาดโลก ขณะที่ราคาอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นสินค้าควบคุมราคาภายใต้มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาได้ตามต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์หลักเดือนธันวาคม 2564 เทียบกับเดือนมีนาคม 2565 ราคาข้าวโพดปรับเพิ่มจาก 10.05 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เป็น 12.65 บาทต่อ กก. ข้าวสาลีนำเข้าจาก 8.91 บาทต่อกก. เป็น 12.75 บาท/ต่อ กก. และกากถั่วเหลืองจากเมล็ดนำเข้าเพิ่มจาก 19.50 บาทต่อ กก. เป็น 22.50 บาทต่อ กก. (เพิ่มขึ้น 15%)
ในอนาคตอันใกล้หากอาหารสัตว์ไม่สามารถปรับราคาได้ตามต้นทุนการผลิต โรงงานอาหารสัตว์อาจตัดสินใจหยุดไลน์การผลิต ทำให้อาหารสัตว์ขาดแคลนและกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงแน่นอน รัฐบาลควรพิจารณามาตรการที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมด้านราคากับทุกฝ่าย
ล่าสุด บริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับซื้อข้าวโพดรายใหญ่ แจ้งปรับราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคาสูงสุดที่ 12.65 บาทต่อกก. สำหรับข้าวโพดหลังนาต้นฤดู เพื่อสร้างหลักประกันในการส่งมอบวัตถุดิบให้กับลูกค้าและลดความเสี่ยงด้านราคาที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นอีกหากสงครามยืดเยื้อ
ปัจจุบัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมราคาขั้นต่ำ (Floor Price) เพื่อสนับสนุนเกษตรกรซึ่งเป็นภาคการผลิตต้นทาง โดยกำหนดราคาประกันขั้นต่ำเมล็ดข้าวโพดความชื้น 14.5% ที่ 8.50 บาทต่อ กก. โดยจะจ่ายส่วนต่างราคาให้กับเกษตรกรเมื่อราคาตลาดต่ำกว่า 8.50 บาทต่อกก. ซึ่งราคาข้าวโพดสูงกว่าราคาประกันตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่มีการกำหนดเพดานราคา (Ceiling Price) ส่งผลกระทบอุตสาหกรรมการผลิตกลางน้ำอย่างโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ต้องซื้อวัตถุดิบในราคาสูงแต่ไม่สามารถปรับราคาขายได้ต้องลดกำลังการผลิตลง ขณะที่ผู้เลี้ยงสัตว์ก็ไม่สามารถปรับราคาหน้าฟาร์มได้เช่นกัน
สำหรับมาตรการคุมราคาของภาครัฐกำลังทำลายความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ หากผู้ผลิตอาหารสัตว์หยุดไลน์การผลิต ผู้เลี้ยงลดปริมาณการเลี้ยง เนื่องจากไม่สามารถปรับราคาขายได้ ห่วงโซ่การผลิตอาหารของประเทศจะหยุดชะงัก และสินค้ามีโอกาสหายไปจากตลาด ขณะที่ราคาถึงผู้บริโภคสูงมาก รัฐควรบริหารจัดการให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอในทุกสถานการณ์