ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมเก็ตโฮ่ ชั้น 5 สำนักงานวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และบุคลากร การวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยนายยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นผู้ลงนามในครั้งนี้
การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสองหน่วยงาน ที่ตระหนักถึงการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อการบำบัดโรคและส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาเกษตรอัตลักษณ์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยพืชเสพติดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และพืชสมุนไพร
ตลอดจนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทางด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ในการยกระดับมาตรฐานทักษะฝีมือขั้นสูงแก่บุคลากรในด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก พร้อมพัฒนาสถานบริการทางการแพทย์แผนไทยในแหล่งท่องเที่ยว ในมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับระดับสากล รองรับการเป็น World Medical Hub และสนับสนุนโครงการระเบียงสุขภาพอันดามัน (Andaman Wellness Corridor)
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ปัจุบันการขยายตัวของตลาดสมุนไพร สอดคล้องกับนโยบายที่ชัดเจนของประเทศ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสมุนไพร ที่นำเอาจุดเด่นของประเทศ โดยเฉพาะพืชสมุนไพร มาพัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศ โดยกำหนดแนวทางการส่งเสริมพัฒนาสมุนไพรไทย ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ (แผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2560 – 2565)
รวมทั้งมีเป้าหมายในการเป็นประเทศส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน และมีมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว นอกจากนี้ การลงนามในครั้งนี้ ยังสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้านการสร้างความสามารถด้านการแข่งขัน
ในส่วนคุณค่าของกัญชาและสมุนไพรไทย ที่สามารถนำพาประเทศไทย ไปสู่บริบทของสมุนไพรที่สร้างเศรษฐกิจชาติได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่มีคุณค่ามาก
รวมทั้งนโยบายที่รัฐบาลทำการปลดล็อคกัญชาออกจากสารเสพติด ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า และผลักดันให้กัญชาไทยสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นำเอาจุดเด่นของภูมิปัญญาและสมุนไพรเพิ่มมูลค่า รับการเปิดประเทศอีกครั้ง เพราะการยกระดับกัญชาให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ผ่านมา ส่งผลให้ปี 2564 ผลิตภัณฑ์จากกัญชากัญชงในประเทศ มีมูลค่าสูงกว่า 7 พันล้านบาท
ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดนโยบายกัญชาเสรี ตามประกาศแผนพัฒนาเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นทุกกระบวนการทำงานอย่างบูรณาการและเป็นระบบ นำไปสู่นโยบายสุขภาพที่เกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์และการวิจัย
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายและการบริหารจัดการกัญชาเพื่อการแพทย์ ซึ่งเปิดโอกาศให้หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนรวมตัวกันกับภาครัฐ ในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์และศึกษาวิจัย รวมถึงต่อยอดให้เกิดการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ เช่น ยา อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่น ๆ เป็นต้น
ถือเป็นมิติใหม่ของทั้ง 2 องค์กร ในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาการศึกษาวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ต่อไป