รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า จากปรากฏการณ์ของโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น ต้นตอของโรคส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. จึงได้ศึกษาการนำเทคโนโลยีขั้นสูงคือเทคโนโลยีพลาสมา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ ปราศจากสารตกค้าง และมีความปลอดภัยสูง เพื่อนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อแทนสารเคมี สามารถนำไปใช้อุตสาหกรรมหลายๆ ประเภทได้ สทน. ได้พัฒนาเครื่องต้นแบบสำหรับใช้ฆ่าเชื้อในผัก ผลไม้ และช่วยในการบำบัดน้ำเสียได้ ขณะนี้กำลังวิจัยและพัฒนาเครื่องต้นแบบ เพื่อขยายผลนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้พลาสมาเป็นสถานะที่สี่ของสสารซึ่งอยู่ในรูปของก๊าซที่แตกตัวเป็นอนุภาคที่มีทั้งประจุบวกและประจุลบ พลาสมาทำให้เกิดได้โดยการให้สนามไฟฟ้าปริมาณมากแก่ก๊าซที่เป็นกลาง ปัจจุบันเทคโนโลยีพลาสมาได้รับความสนใจค่อนข้างมาก มีการนำน้ำที่ถูกกระตุ้นด้วยวิธีการพลาสมา หรือ “น้ำพลาสมา” ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การช่วยลดปริมาณจุลินทรีย์ และทำให้ยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนในอาหารเสื่อมสภาพ แต่เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่เครื่องมือที่ใช้ผลิตพลาสมา จึงมีราคาสูงมาก
นายสมศักดิ์ แดงติ๊บ ผู้จัดการศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูง (สทน.) กล่าวว่า สทน. ได้พัฒนาเครื่องกำเนิดพลาสมาต้นแบบ จำนวน 2 เครื่อง เครื่องแรกมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และลดสารเคมีที่ตกค้างในพืชผัก และผลไม้ โดยใช้น้ำประปาทั่วไปมาเปลี่ยนคุณสมบัติโดยผ่านกระบวนการด้านพลาสมา ทำให้โมเลกุลหรืออะตอมของน้ำเกิดการแตกตัว เมื่อเกิดการแตกตัวจะเกิดพลังงานที่สูงกว่าปกติ และพลังงานที่สูงกว่าปกติสามารถทำให้คลอรีนที่อยู่ในน้ำเกิดปฏิกิริยากับน้ำกลายเป็นกรดไฮโปคลอรัส ซึ่งเป็นกรดอ่อนที่มีคุณสมบัติในการกำจัดไวรัส แบคทีเรียและเชื้อรา รวมถึงสปอร์ของเชื้อราได้ และมีความว่องไวในการกำจัดจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ได้
สำหรับเครื่องที่สอง เป็นเครื่องกำเนิดพลาสมาที่นำไปใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย โดยกระตุ้นให้เกิดพลาสมาในน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดอนุมูลบางตัว เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ไฮดรอกซิล ไนเตรต ไนไตรต์ ซึ่งอนุมูลเหล่านี้มีความว่องไวในการเข้าไปกำจัดสารเคมีที่อยู่น้ำเสียออก หรือลดให้มีความอันตรายลง คล้ายกับกระบวนการที่เกิดขึ้นในผัก แต่แทนที่จะเกิดที่ผิวของผัก ผลไม้ มันจะเกิดขึ้นกับคุณสมบัติของน้ำโดยตรง
สำหรับเครื่องทั้งสองแบบนี้สามารถพัฒนาเพื่อนำไปใช้ได้ทั้งในระดับครัวเรือนและในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการบำบัดที่ใช้ตามปกติ สามารถใช้กำจัดเชื้อโรคและสารเคมีได้ทั้งต้นทาง คือการชำระล้างผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์เพื่อกำจัดจุลินทรีย์ก่อนที่จะบรรจุหีบห่อ หรือการนำไปใช้ปลายทางคือการบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิตเพื่อให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้นก่อนที่จะนำกลับมาใช้ใหม่หรือปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม จะช่วยลดระยะเวลาและลดต้นทุนดำเนินการในการกำจัดจุลินทรีย์และสารเคมีในกระบวนการผลิตได้ เป็นการเพิ่มความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อม และยกระดับความปลอดภัยของอาหารให้สูงขึ้น ปัจจุบันมีภาคอุตสาหกรรม 2-3 แห่ง ให้ความสนใจที่จะร่วมพัฒนาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม
" ขณะนี้ สทน.ได้พูดคุยกับภาคอุตสาหกรรมบางรายแล้ว หากตกลงกันได้ก็จะนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ทั้งนี้ จะไม่ใช่การนำเทคโนโลยีพลาสมาไปใช้แบบโดดๆ จะต้องมีการใช้ควบรวมกับเทคโนโลยีอย่างอื่นด้วย โดย สทน.จะต้องเข้าไปร่วมพัฒนากับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง"
อย่างไรก็ตาม สทน. ยังมองไปถึงการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยผลิตพลาสมาในรูปแบบที่เป็นแก๊สแล้วนำแก๊สพลาสมาไปกำจัดแก๊สที่ไม่ต้องการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแก๊สหรือน้ำมัน หรือในบางอุตสาหกรรมที่มีปัญหาสารเคมีที่ส่งกลิ่นเหม็น ก็สามารถนำสารเคมีเหล่านั้นผ่านเครื่องกำเนิดพลาสมาเพื่อกำจัดกลิ่นได้