นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala เกี่ยวกับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนผ่านบทสัมภาษณ์ กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีโซเวียต โดยระบุว่า
“กอร์บาชอฟบอกว่า: แม้แต่นิ้วเดียว เข้าใจไม่ตรง”
รูป 1 สื่อ Russia Beyond สัมภาษณ์กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต เกี่ยวกับ ‘แม้แต่นิ้วเดียว’ ปรากฏว่าคำตอบน่าสนใจมาก (ดูลิงค์ภาษาอังกฤษ)
สื่อถามว่า: ปัญหาหลักอย่างหนึ่ง เกี่ยวข้องกับยูเครน ก็คือการขยายเขตโดยนาโต้ไปทางตะวันออก คุณคิดว่าประเทศตะวันตกที่วางแผนเกี่ยวกับยุโรปตะวันออกโกหกกับคุณหรือเปล่า?
กรณีที่เจมส์ เบเคอร์สัญญาว่านาโต้จะไม่ขยายไปทางตะวันออก ‘แม้แต่นิ้วเดียว’ นั้น ทำไมคุณไม่เรียกร้องให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร?
กอร์บาชอฟ: ไม่มีการพูดคุยหัวข้อ ‘การขยายเขตนาโต้’ เลย แม้ในห้วงเวลาต่อจากนั้น (หลังปี 1990) ผมพูดอย่างรับผิดชอบเต็มที่
และไม่มีประเทศยุโรปตะวันออกใดที่ยกประเด็นนี้ขึ้น แม้ภายหลังข้อตกลง Warsaw Pact ยกเลิกไปแล้วในปี 1991 ส่วนผู้นำตะวันตกก็ไม่ได้ยกขึ้นเช่นกัน
ประเด็นหนึ่งที่เรายกขึ้นพูดกัน คือโครงสร้างของนาโต้จะไม่ขยายเข้าไปในเยอรมันตะวันออกหลังรวมประเทศ คำพูดของเบเคอร์เป็นเรื่องนี้ โคลและเกนซเลอร์พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้
(ประเทศตะวันตก)ได้มีการทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ตามข้อตกลงทางการเมืองแล้ว ข้อตกลงสุดท้ายเรื่องเยอรมนีระบุว่าจะไม่มีโครงสร้างทางทหารใหม่ในเยอรมันตะวันออก จะไม่วางอาวุธ weapon of mass destruction ที่นั่น และประเทศตะวันตกก็ยอมปฏิบัติตามนั้น
ดังนั้น โปรดอย่าไปเล่าขานกันว่ากอร์บาชอฟและรัฐบาลสหภาพโซเวียตไม่ทันเกม และถูกตะวันตกหลอกลวง
ถ้าจะมีความไม่ทันเกม ก็คือห้วงเวลาหลังจากสหภาพโซเวียตแตกสลายกลายเป็นรัสเซียแล้ว(คือกอร์บาชอฟพ้นตำแหน่งไปแล้ว) รัฐบาลรัสเซียไม่ได้ประท้วงการขยายเขตนาโต้ตั้งแต่เริ่มต้น(ในปี 1999)
(If there was naïveté, it was later, when the issue arose. Russia at first did not object.)
สหรัฐและนาโต้ตัดสินใจขยายเขตนาโต้ไปทิศตะวันออกในปี 1993 (ในปีนั้น เริ่มเจรจากับโปแลนด์) ผมเห็นว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาดตั้งแต่แรก และการขยายเขตดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์และคำมั่นที่ให้กับเราไว้ในปี 1990
(It was definitely a violation of the spirit of the statements and assurances made to us in 1990.)
กรณีเยอรมนีนั้น มีการระบุไว้เป็นเอกสารสัญญาและประเทศตะวันตกก็ปฏิบัติตาม
(With regards to Germany, they were legally enshrined and are being observed.)
สัมภาษณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2014 เกิดขึ้นหลังจากรัสเซียในสมัยปูติน บุกเข้าไปในแหลมไครเมียในเดือน ก.พ. 2014 การที่สื่อมาสัมภาษณ์กอร์บาชอฟ ก็คงจะเพื่อเอาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ มาอ้างสนับสนุนการบุกดังกล่าว
แต่เมื่อกอร์บาชอฟสัมภาษณ์เช่นนั้น สื่อสหรัฐก็เอาไปขยายความเพื่อลบล้าง ‘แม้แต่นิ้วเดียว’
ผมวิเคราะห์ว่า ตรงนี้ กอร์บาชอฟพูดตรงกับเหตุการณ์ และการเจรจาเน้นทำเป็นสัญญาเกี่ยวกับเยอรมันตะวันออกเท่านั้น ไม่ได้มีการทำสัญญาเกี่ยวกับประเทศยุโรปตะวันออกอื่นด้วยเลย
เป็นเพราะเหตุใด?
รูป 2 แสดงสมาชิกนาโต้ปัจจุบัน โดยประเทศสมาชิกใหม่หลังปี 1990 ที่อยู่ระหว่างสองลูกศรสีน้ำเงิน ก็คือประเทศที่เดิมอยู่ภายใต้ร่มเงาของสหภาพโซเวียต
รูป 3 แสดงการรับสมาชิกใหม่ของนาโต้ โดยก่อนเยอรมนีรวมตัวมี 3 รอบ ในรอบที่หนึ่งปี 1952 รับกรีซกับตุรกี รอบที่สองปี 1955 รับเยอรมันตะวันตก รอบที่สามปี 1982 รับสเปน
ส่วนประเทศยุโรปตะวันออกนั้น เริ่มรับในรอบที่สี่เป็นต้นไป เริ่มด้วยปี 1999 เชค ฮังการี โปแลนด์ ปี 2005 ล๊อตใหญ่ บุลกาเรีย เอสโตเนีย แลตเวีย ฯลฯ
สรุปแล้ว ในการประชุมปี 1990 ที่เบเคอร์กล่าวถึง ‘แม้แต่นิ้วเดียว’ นั้น มุ่งไปที่เส้นแบ่งเขตอิทธิพลหลักระหว่างนาโต้กับสหภาพโซเวียตในขณะนั้น
ในรูป 4 เส้นนี้ก็คือเส้นสีน้ำเงิน ระหว่างนาโต้(สีแดง)กับโซเวียต(สารพัดสี) เส้นนี้คือพรมแดนระหว่างเยอรมันตะวันออก(ที่กำลังจะย้ายค่ายไปอยู่กับนาโต้) กับโปแลนด์ที่ยังอยู่ในร่มเงาของสหภาพโซเวียต
กอร์บาชอฟไม่ได้คิดจะเรียกร้องให้ตะวันตกทำสัญญามั่นเหมาะ ว่าจะไม่ขยายไปยังประเทศระหว่างสองเส้นสีน้ำเงิน เพราะในขณะนั้น ย่อมไม่คาดว่าสหภาพโซเวียตจะแตกสลาย
อย่างไรก็ดี คำพูดของเบเคอร์นั้น โดยเนื้อหาของเรื่อง ก็ย่อมจะต้องหมายความถึงเส้นแบ่งเขตอิทธิพลหลัก ระหว่างนาโต้กับสหภาพโซเวียต ดังนั้น เมื่อเส้นนี้เลื่อนออกไป ประเทศตะวันตกก็ย่อมจะต้องเคารพในเนื้อหาเช่นเดิม
สรุปแล้ว การเจรจาที่เน้นทำข้อตกลงชัดเจนสำหรับเยอรมันตะวันออก ก็เพราะเส้นแบ่งเขตอิทธิพลหลักขณะนั้น ในขณะนั้นกำลังจะเคลื่อนครั้งใหญ่ จากเยอรมันตะวันตกไปเยอรมันตะวันออกนั่นเอง
ในขณะนั้น ถ้าหากมีใครคาดได้ว่า วันหนึ่งเส้นแบ่งเขตจะเคลื่อนไปจนถึงพรมแดนยูเครน ก็ย่อมจะต้องมีการเรียกร้องให้ทำเอกสารเอาไว้แล้ว
และด้วยเหตุนี้ กอร์บาชอฟจึงได้กล่าวในสัมภาษณ์ว่า การขยายเขตของนาโต้เป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์และคำมั่นที่ให้กับเขาไว้ในปี 1990
ประเทศที่เคยอยู่ใต้ร่มเงาสหภาพโซเวียตนั้น เมื่อประกาศอิสรภาพและใช้กลไกตลาด ล้วนพัฒนาเศรษฐกิจได้เร็ว ทำให้ประเทศยุโรปตะวันออกนิยมย้ายค่ายเข้าร่วมกับอียูเป็นธรรมดา
แต่ยูเครนกับเบลารุสเป็นประเทศกันชนใหญ่สุดที่มีพรมแดนกับรัสเซียยาวมาก (วงกลมสีแดงในรูป 4) ดังนั้น การที่รัสเซียมีความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ จึงพอเข้าใจได้
ถึงแม้บางกระแสจะเห็นว่า ปูตินควรจะใช้ช่องทางการฑูตไปเรื่อยๆ มากกว่าสงคราม แต่ในเรื่องความเมืองนั้น มีคำกล่าวว่า All is fair in love and war รบก็ได้ถ้าทำให้ประเทศฉันอยู่รอด
ทั้งนี้ สงครามระหว่างประเทศนั้น เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะตรงกับเงื่อนไขหรือกับข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่
สำคัญอยู่ที่ประเด็นในใจคนรัสเซีย ว่าเป็นอย่างไร
นาโต้ใช้นิวเคลียร์เศรษฐกิจ หวังว่าคนรัสเซียที่เดือดร้อน จะตีจากปูติน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนอาวุธสงครามตัวแทน ทำให้ยืดเยื้อ โดยสังคมโลกถูกกระทบไปด้วย แต่ถามว่าจะได้ผลหรือไม่?
ความหวังว่าคนรัสเซียจะโล๊ะปูตินออกจากตำแหน่ง ก็จะไม่เกิดขึ้นง่าย