พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย นำตัวอย่างทองคำโบราณจากปราสาทหินในภาคอีสานอายุเกือบพันปี ให้นักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) วิเคราะห์หาองค์ประกอบ โดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เพื่อปรับปรุงข้อมูลส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ และยังเป็นฐานข้อมูลเทียบกับฐานข้อมูลทางธรณีวิทยา และนำไปสู่การค้นหา “สายแร่ทองคำ” ที่เป็นแหล่งที่มาของทองคำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2565 นางเบญจวรรณ พลประเสริฐ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จ.นครราชสีมา นำตัวอย่างทองคำโบราณ จากปราสาทหินในภาคอีสานกว่า 20 รายการ มาวิเคราะห์ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา
โดยมี ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ ผู้จัดการระบบลำเลียงที่ 8 รับตัวอย่างมาวิเคราะห์ด้วยเทคนิคแสงซินโครตรอน ซึ่งทองคำดังกล่าวเป็นทองคำในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 อยู่ในช่วงยุคอารยธรรมขอมกำลังรุ่งเรือง และแผ่อิทธิพลมายังอาณาจักรไทยในอดีต
ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย กล่าวว่า ตัวอย่างทองคำโบราณได้คัดเลือกมาเพียงบางส่วน เพื่อวิเคราะห์หาส่วนผสม องค์ประกอบต่าง ๆ ในทองคำ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีข้อมูลเรื่องนี้
ข้อมูลจากงานการวิเคราะห์นี้จะนำไปสู่การนำเสนอข้อมูลใหม่ ในการปรับปรุงส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวรใหม่ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย อีกด้วย ซึ่งจะเริ่มในปลายปีนี้ อีกทั้งยังใช้เป็นฐานข้อมูลเทียบกับฐานข้อมูลทางธรณีวิทยา เพื่อค้นหา “สายแร่ทองคำ” ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดหรือแหล่งที่มาของทองคำโบราณเหล่านี้ได้
นอกจากทองคำโบราณแล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ยังมีความร่วมมือ ในการใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์โบราณวัตถุอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ลูกปัดโบราณ พระพุทธรูปโบราณ ประติมากรรมโบราณ เป็นต้น