นายเกรียงไกร ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังมีความยืดเยื้อ ซึ่งใน 3 เดือน นับตั้งแต่รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารบุกยูเครน(เริ่มตั้งแต่ 24 ก.พ. 65) ในรูปแบบของการรบเริ่มเห็นภาพชัดเจนแต่ในเรื่องของการแซงก์ชั่นรัสเซียจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกมองว่าลากยาวแน่นอน
เศรษฐกิจยุโรปจะอ่อนแอลง และจะทรุดลง ขณะที่เงินเฟ้อของยุโรปจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งยุโรปจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป(อียู) ทั้งหลาย ที่พึ่งพาการใช้ก๊าซ น้ำมัน และสินค้าทางด้านอาหารต่าง ๆ จากทางรัสเซียและยูเครน
ทั้งนี้จากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ขณะที่รัสเซียก็ตอบโต้กลับ เช่น ระงับส่งออก(สินค้ากว่า 200 รายการ) จะทำให้ค่าครองชีพ เงินเฟ้อทุกอย่างพุ่งขึ้น ต้นทุนทุกอย่างแพง ความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมในยุโรปลดลง และจะกระทบซัพพลายเชน (ห่วงโซ่อุปทาน)โลก
เรามองเป็นหลาย Scenario แต่ทุกคนคิดว่ามันต้องเกิน 100 ดอลลาร์ต่อลาร์เรลแน่นอน โดยส่วนใหญ่คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกโดยเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 100-110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นทุก 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะมีผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันของไทยปรับขึ้นประมาณ 25 สตางค์ต่อลิตร
ทั้งนี้นักวิเคราะห์แบ่งออกเป็น 3 Scenario คือ 1.สถานการณ์ไม่บานปลายมากพอที่จะควบคุมได้จะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจจะเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 100-110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล กรณีที่ 2 สงครามยืดเยื้อ และมีมาตรการแซงก์ชั่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้นก็อาจจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ 110-120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล
กรณีที่ 3 มองเลวร้ายเลย เช่นทางนาโต้ หรือสหรัฐฯส่งอาวุธไปช่วยยูเครน ทำให้สถานการณ์บานปลาย หรือมีมาตรการแซงก์ชั่นที่รุนแรงที่ทางสหรัฐฯเพิ่มมาตรการ และรัสเซียไม่ยอม อาจนำไปสู่การทำให้ราคาน้ำมันขึ้นไปแตะ 140-150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล อันนี้ก็จะเป็นเรื่องที่เราคาดการณ์ไม่ได้
“ตรงนี้จะส่งผลต่อจีดีพีประเทศไทย เพราะทุกวันนี้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น มาจากราคาพลังงาน และราคาอาหารการกินที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง 2 หมวดนี้เป็นตัวหลัก ถ้าราคาน้ำมันขึ้นไปเยอะก็จะส่งผลต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้หากเหตุการณ์ยิ่งบานปลาย จะส่งผลราคาปุ๋ย ราคาเหล็ก จะปรับตัวสูงขึ้นและขาดแคลน อาจทำให้เกิดภาระการขาดแคลนทางอาหาร พืชผลทางการเกษตร รวมทั้งอาหารของทั่วโลกกระทบกระเทือนไปถึงปลายปีนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อพุ่งกระฉูด ขนาดแค่ปัจจุบันเงินเฟ้อของสหรัฐฯก็จะแตะ 8% ทำให้ทางเฟด(ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
“เดิมเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ไปเรื่อย ๆ โดยวางแผนไว้จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1.75-2% ที่เขาคิดว่าจะสกัดเงินเฟ้ออยู่ แต่แผนนี้อาจต้องเปลี่ยนไป เป็นการใช้ยาแรงตั้งแต่เริ่มต้น เช่นอาจจะขึ้นดอกเบี้ย 0.5% เลยในครั้งต่อไป ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ย อาจจะปรับถึงปีหน้ารวมทั้งสิ้นอาจปรับขึ้นถึง 3% จากเดิมที่คิดว่าขึ้น 2% จะเอาอยู่ ”
ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ1.ผลกระทบจากต้นทุน และ 2.ผลกระทบเรื่องค่าขนส่ง ในส่วนของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้หลายอุตสาหกรรมเริ่มได้รับผลกระทบทั้งต้นทุนวัตถุดิบอาหารคน วัตถุดิบอาหารสัตว์ ต้นทุนเหล็กกระป๋อง วัสดุต่าง ๆ ขณะที่ค่าขนส่งทั้งทางบก ค่าระวางเรือ ค่าขนส่งทางอากาศ ทั้งในและต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน
ผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือพวกวัตถุดิบต่าง ๆ ในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี อุตสาหกรรมพวกเหล็ก โภคภัณฑ์ต่าง ๆ หรืออลูมิเนียมเหล่านี้ราคาพุ่งขึ้นไปมาก ซึ่งแต่ละอย่างมันก็ส่งผลกระทบในมุมต่างกัน แต่ขณะนี้ยังดีที่ว่าถึงแม้ราคาขึ้นไปแต่ยังพอหาของได้ แต่สิ่งที่กังวลถ้าสถานการณ์มันยืดเยื้อรุนแรงขึ้นอาจจะทำให้สินค้านอกจากราคาแพงขึ้นแล้วไม่ว่า แต่เกรงว่ามีเงินก็ยังซื้อไม่ได้ ถ้าเกิดซัพพลายเชนดิสรัปชั่น หรือซัพพลายช็อตก็จะส่งผลกระทบกับภาคการผลิตทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศ และเพื่อการส่งออก
“อันนี้ก็จะมีผล เช่น อาหารสัตว์ ต้นทุนวัตถุดิบพวกข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาพุ่งขึ้นไปเยอะ ก็ส่งผลให้มีการปรับต้นทุนราคาเนื้อไก่ส่งออก ซึ่งขณะนี้ประเทศในแถบยุโรปก็มากว้านซื้อเนื้อไก่เพื่อไปตุน เพื่อเป็นความมั่นคงด้านอาหาร เพราะตอนนี้อาหารการกินที่แต่เดิมต้องพึ่งพายูเครน รัสเซีย ยุโรปต้องมาหาซื้อในประเทศอื่น ๆ แทน ซึ่งมาซื้อเนื้อไก่ ซื้ออะไรต่าง ๆ จากบ้านเราเพิ่มขึ้น”
ใช่ ก็สั่งซื้อเพิ่มและยอมซื้อที่ราคาแพง แพงเท่าไหร่ก็ซื้อ ตอนนี้มีดีมานด์ก็ซื้อไปตุนกัน เนื่องจากแหล่งซัพพลายอาหารจากยูเครน และรัสเซียก็หยุดชะงักไป และเขาต้องรีบตุน ตอนนี้ราคาแพงเท่าไหร่ก็ซื้อ แต่สิ่งที่กังวลก็คือเราต้องรีบเร่งแก้ไขปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลนและมีราคาแพง โดยผู้ผลิตอาหารสัตว์ และผู้เลี้ยงสัตว์ กำลังดูแหล่งวัตถุดิบจากประเทศอื่น ๆ มาทดแทนรัสเซีย-ยูเครน และอีกด้านหนึ่งก็หาวัตถุดิบในประเทศที่จะมาทดแทนเพื่อผลิตอาหารสัตว์ และเพื่อเป็นความมั่นคงทางด้านการผลิตอาหารสัตว์ในประเทศ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ก็มีการปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจ (GDP)ไทยในปี 2565 ลดลง จากเดิมคาดขยายตัว 2.5-4.5% เป็น 2.5-4% และปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น จากเดิม 2-3% เป็น 3.5-5.5% ส่วนการส่งออก ยังคงเป้าเดิมที่ 3-5%
หลายคนมองว่าเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ เครื่องที่ 1 ก็ยังเป็นเรื่องการส่งออก แต่อย่างที่บอกสิ่งที่เป็นความกังวลในเวลานี้ก็คือเรื่องของถ้าเกิดการแซงก์ชั่นยืดเยื้อจนส่งผลทำให้ซัพพลายเชนขาดตอน ขาดวัตถุดิบ อันนี้จะเป็นปัญหาเดียว ซึ่งตอนนี้ภาคอุตฯ และผู้ประกอบการต้องรีบเร่งหาแหล่งวัตถุดิบสำรอง และ 2.ดูว่าในบางอุตสาหกรรมจะหาวัตถุดิบในประเทศมาทดแทนได้หรือไม่
แต่ทั้งนี้อาจจะเป็นโอกาสในหลายอุตสาหกรรมของเราที่จะสามารถส่งไปทดแทนในประเทศที่เขาเคยสั่งนำเข้าจากรัสเซีย และยูเครน ในสินค้าอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อไก่ เนื้อหมู อาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง ก็จะมีความโดดเด่นขึ้นมา เพราะยูเครนได้ชื่อว่า เป็น “ตะกร้าขนมปัง” หรือ “อู่ข้าวอู่น้ำ”ที่สำคัญของยุโรป ตอนนี้มีสงคราม คนก็ทิ้งบ้าน ทิ้งเรือกสวนไร่นาไม่มีคนทำงาน เพราะฉะนั้นเกิดภาวะะขาดแคลนทำให้ราคาพุ่ง ประเทศในยุโรปที่ได้รับผลกระทบก็ต้องแสวงหาแหล่งอาหารเพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนตอนนี้แพงเท่าไหร่ก็ซื้อขอให้มีของ
แต่ว่าบางกลุ่มอุตสาหกรรมของเราอาจได้รับผลกระทบ เช่น รถยนต์ ที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ของ ส.อ.ท.คาดการณ์ไว้เดิมปีนี้จะส่งออกรถยนต์ได้ 9.5 แสนคัน ถึง 1 ล้านคัน มากกว่าปีที่แล้ว แต่ด้วยสถานการณที่ยืดเยื้อ ทำให้ต้นทุนทั้งเหล็ก พลาสติก ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ราคาปรับเพิ่มขึ้น
และจากที่ ทั้งยูเครนและรัสเซีย ทำให้แร่บางอย่างเช่น นีออนแก๊ส หรือแร่นีออนเพื่อใช้ในการผลิตพวกชิพที่ยูเครนเป็นผู้ส่งออกถึง 40% ของโลกจะทำให้ขาดไป และรัสเซียก็งดการส่งพวกพาลาเดียม และราคานิกเกิลที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)ก็ปรับขึ้นไปมาก ทำให้ต้นทุนทุกอย่างแพงขึ้น ทำให้โรงงานรถยนต์ทั่วโลกชะลอการผลิตลง รวมทั้งการส่งออกของเราด้วย
“ถ้าเกิดมีการช็อตหรือขาดแคลนมากของวัตถุดิบ /ชิ้นส่วน จะทำให้เป้าการส่งออกรถยนต์ปีนี้อาจจะต้องลดลง 10-20% จากเดิมเป้าปีนี้จะส่งออก 9.5 แสนคัน ถึง 1 ล้านคัน”
ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ตอนนี้ปัญหาคือค่าพลังงานต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่เป็นห่วงในประเทศคือค่าครองชีพที่สูงขึ้น เงินเฟ้อที่สูงขึ้น จากราคาอาหารการกินของเราแพงขึ้น ค่าขนส่ง ค่าพลังงาน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งค่าไฟฟ้าเอฟทีที่ขึ้นมาไปกดดันกำลังซื้อของประชาชน จากกำลังซื้อของประชาชนก็ยังไม่ฟื้นตัวจากรื่องของโควิด
ที่สำคัญคือตอนนี้หนี้ภาคครัวเรือนที่ไปแตะ 14.58 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วนกว่า 90.1% ของจีดีพี ซึ่งค่อนข้างสู ยิ่งส่งผลกดดันกำลังซื้อของคนไทยให้ลดลงอีก ตรงนี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องหามาตรการเพิ่มหรือเติม เช่น โครงการคนละครึ่งเฟสต่อไป รวมทั้งการลดค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าฟ้า ค่าแก๊สอะไรต่าง ๆ ที่ต้องออกมาเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน และเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ
แต่ตอนนี้ภาครัฐก็เริ่มไม่มีเงินแล้ว เช่น ราคาน้ำมันดีเซลจะเลิกตรึงราคาที่ไม่เกิน 30 บาท หากสิ้นสุดเดือนเมษายนนี้ ส่วนที่เพิ่มขึ้นรัฐจะช่วยจ่ายครึ่งหนึ่ง จะเห็นว่าไม่ช่วยอุดหนุนเหมือนเดิม เพราะเป็นภาระทางการคลังสูง
คืออดีตรัฐมนตรีคลังหลายท่านก็ออกมาแสดงความเห็น หลังจากที่ผมเคยพูดว่าต้องกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้าน ซึ่งตามหลักทฤษฎีก็คิดคล้าย ๆ กัน ไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับกระเป๋าเรา หรือฐานะทางการคลังของแต่ละประเทศเรื่องนี้ผมตอบแทนไม่ได้ว่าจะยังไง ซึ่งวิธีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็มีมาตรฐานอยู่แค่นี้ เติมเงิน เติมกำลังซื้อ ทำให้เศรษฐกิจมันหมุนเวียน ขับเคลื่อน แต่รู้สึกท่านอาคม(รมว.คลัง)จะไม่รับไอเดียเรื่องนี้
หมดแน่นอน แป๊บเดียวก็หมดแล้ว
อีกเครื่องยนต์หนึ่งที่พอจะเข้ามาช่วยเสริมในปีนี้ได้บ้าง คือเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยวจากมาตรการผ่อนคลายทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็ผ่อนคลายเพิ่มขึ้น อาจจะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยได้ 5-6 ล้านคน หากได้ตามเป้าอย่างน้อยก็มาเติมเม็ดเงินให้กับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็จะส่งผลให้จีดีพีดีขึ้น ปีนี้คาดหวังจากเครื่องยนต์ 2 ตัว (ส่งออก+ท่องเที่ยว) ส่วนการลงทุนบรรยากาศยังไม่โอเค
ที่ผ่านมาไทยได้อานิสงส์จากไทยเที่ยวไทย ทำให้ยอดจองโรงแรมก็เริ่มดีขึ้น เฉลี่ย 30% ในบางแห่ง แต่ก็ยังน้อย เพราะเป็นนักท่องเที่ยวไทยเป็นส่วนใหญ่ ช่วงสงกรานต์วันหยุดยาวคนก็จะออกเดินทางต่างจังหวัดมากแต่ที่ต้องระวังคือการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จากระดับหมื่นคนอาจจะแตะแสนคนต่อวันที่ติดเชื้อเหมือนเกาหลี
ที่ต้องจับตาคือสถานการณ์ติดโอมิครอนที่ประเทศจีน ซึ่งช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้มีการล็อกดาวน์เสิ่นเจิ้น ฮ่องกง และการล็อกดาวน์ทีละครึ่งของมหานครเซี่ยงไฮ้ในขณะนี้ เหล่านี้ส่งผลทำให้เกิดการชะงักงัน จากที่คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาปีนี้ ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนในปีนี้คงไม่มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงมาประเทศไทยด้วย
“ปีนี้ขนาดจีนปรับประมาณจีดีพีไว้ล่วงหน้า ปีที่แล้วจีดีพีเขา 8.1% ปีนี้ขอเหลือแค่ 5.5% ตัวแปรปีนี้อีกตัวคือ การระบาดของโอมิครอนในจีนจะเอาอยู่หรือไม่ เพราะถ้ายังมีการระบาดจะทำให้มาตรการ Zero Covid ของจีนจะต้องขยับเวลายาวออกไปอีก ทำให้การผลิตบางส่วนของเขาอาจสะดุด และกระทบห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนสินค้าหลายตัวของไทยที่พึ่งพาจีนได้” นายเกรียงไกร กล่าว